xs
xsm
sm
md
lg

สภาผู้บริโภค ฟาด กสทช. ประมูลคลื่นลดราคา-เอื้อทุนใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แฉประมูลคลื่นเน่า! สภาองค์กรของผู้บริโภค ซัด กสทช. ลดราคา เอื้อทุนใหญ่ เมินเสียงประชาชน กีดกันรายใหม่-ไร้มาตรการคุ้มครองผู้ใช้

เมื่อวันที่ 2 ก.ค.68 สภาองค์กรของผู้บริโภค ทำหนังสือถึง ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) เพื่อคัดค้านการรับรองผลการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ในย่าน 850 MHz, 1500 MHz, 2100 MHz และ 2300 MHz ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.68 โดยให้เหตุผลว่า กระบวนการประมูลเต็มไปด้วยข้อบกพร่อง ทั้งด้านราคา เงื่อนไข และกระบวนการรับฟังความคิดเห็น

ผลการประมูลปรากฏว่า บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ชนะการประมูลคลื่น 2100 MHz ในราคา 14,850,000,010 บาท ขณะที่ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ True ชนะในอีก 2 ย่าน ได้แก่ 2300 MHz มูลค่า 21,770,000,168 บาท และ 1500 MHz มูลค่า 4,653,960,168 บาท

สภาผู้บริโภคให้เหตุผลประกอบการคัดค้าน 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

1.ราคาตั้งต้นของคลื่น 2100 MHz ลดลงจากการประเมินเดิมถึง 30%
ในร่างประกาศ กสทช. ที่เปิดรับฟังเมื่อวันที่ 6 ก.พ.68 มีการตั้งราคาขั้นต่ำของคลื่น 2100 MHz ไว้ที่ 3,391 ล้านบาท แต่ในเอกสารการรับฟังความคิดเห็นรอบแรก กลับประเมินไว้ที่ 3,970 ล้านบาท ถือว่ามีการลดราคาประเมินลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน

2.การตั้งราคาคลื่น 2300 MHz ไม่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นรอบที่ 2
ราคาขั้นต่ำของคลื่น 2300 MHz ที่ปรากฏในประกาศ กสทช. เมื่อวันที่ 28 เม.ย.68 ไม่ได้ถูกนำเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะรอบที่สอง ถือเป็นการละเมิดกระบวนการมีส่วนร่วมของสาธารณะอย่างชัดเจน

3.กำหนดเงื่อนไขกีดกันผู้เล่นรายใหม่
การบังคับให้ผู้รับอนุญาตต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมไม่น้อยกว่า 90% ของประชากรในแต่ละตำบลภายใน 5 ปี เป็นเงื่อนไขที่ไม่เคยปรากฏในประกาศก่อนหน้า และเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้องการเข้าสู่ตลาด

4.ไม่มีการแยกรายคลื่นในเงื่อนไขการขยายโครงข่าย
การไม่ระบุให้ขยายโครงข่ายแยกตามคลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาต อาจเปิดช่องให้ผู้ได้รับใบอนุญาตนำคลื่นไปกักตุนหรือถัวเฉลี่ยใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยไม่จำเป็นต้องให้บริการจริงในทุกคลื่น ถือเป็นการใช้งานคลื่นอย่างไร้ประสิทธิภาพ และขัดต่อบทบาทตามกฎหมายของ กสทช.

5.ไม่มีมาตรการรองรับผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการหมดสัญญาของ NT
ผู้ใช้บริการของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ซึ่งได้รับผลกระทบจากการหมดสัญญา ไม่มีแนวทางรองรับที่ชัดเจนจาก กสทช. อาจทำให้ผู้บริโภคต้องรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนมือการใช้คลื่นจากภาครัฐไปยังเอกชน

สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงขอให้ ประธาน กสทช. ใช้อำนาจตามมาตรา 27 (6) แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทบทวนและระงับการรับรองผลการประมูลครั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่า คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติ ไม่ควรถูกใช้เพื่อแสวงหากำไรจากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม และต้องมีการกำกับให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และผลประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก

ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวได้ยื่นต่อ ประธาน กสทช. อย่างเป็นทางการแล้ว โดย นายภูมิภัส พลการ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร เป็นตัวแทนรับมอบ และรอการพิจารณาดำเนินการในลำดับถัดไป






กำลังโหลดความคิดเห็น