BDI ครบรอบ 2 ปี ลั่นกลองรบ ดัน บิ๊กดาต้า-เอไอ ปฏิวัติข้อมูลชาติด้วย 3 แกนหลัก พลิกโฉมหน่วยงานรัฐ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-สังคม ยกระดับไทยทุกมิติ
เมื่อวันที่ 27 พ.ค.68 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ประเทศไทยเข้าสู่ยุคที่ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไม่ใช่เพียงเครื่องมือประกอบการทำงาน แต่กลายเป็นหัวใจของโครงสร้างพื้นฐานชาติ รัฐบาลจึงเร่งเดินเครื่องนโยบายดิจิทัลเต็มพิกัด ด้วยการจัดตั้ง คณะกรรมการ AI แห่งชาติ ทำหน้าที่กำหนดทิศทางการพัฒนา AI ให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน พร้อมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่จำเป็น เช่น คลาวด์ ดาต้าเซ็นเตอร์ ระบบประมวลผล GPU และแพลตฟอร์มโอเพนซอร์ส เพื่อรองรับการเติบโตของนวัตกรรมในระยะยาว
ทั้งนี้ อีกหนึ่งก้าวสำคัญที่รัฐบาลกำลังผลักดัน คือ การจัดตั้งคลังข้อมูลแห่งชาติ (National Data Bank) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นกลไกกลาง ในการรวบรวม จัดการ และเปิดใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศอย่างปลอดภัยและโปร่งใส หน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ ได้แก่ สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI ภายใต้กระทรวงดีอี ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ข้อมูลกลายเป็นรากฐานใหม่ ในการวางแผนเชิงนโยบาย การสร้างบริการสาธารณะที่ตรงจุด และการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ประเทศในอนาคต
นายกุลิศ สมบัติศิริ ประธานกรรมการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ กล่าวว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา BDI วางรากฐานใหม่ให้ระบบข้อมูลของประเทศไทย ให้หลุดพ้นจากยุคต่างคนต่างทำ สู่การบูรณาการร่วมกันอย่างเป็นระบบ โดยมีผลงานรูปธรรมที่แสดงถึงจุดเปลี่ยนเชิงโครงสร้างของการจัดการข้อมูลภาครัฐ หนึ่งในโครงการสำคัญคือ Health Link ซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของประชาชนจากโรงพยาบาลทั่วประเทศเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องและแม่นยำ
ขณะที่ Travel Link ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อวิเคราะห์การเดินทางในเชิงพื้นที่ สนับสนุนการวางแผนผังเมืองและระบบคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ City Data Platform (CDP) ยังถูกใช้เป็นฐานข้อมูลกลางของเมือง ช่วยให้หน่วยงานรัฐสามารถใช้ข้อมูลในการตัดสินใจนโยบายสาธารณะได้อย่างเป็นระบบและทันต่อสถานการณ์
นายกุลิศ กล่าวว่า ผลลัพธ์จากการวางโครงสร้างดังกล่าวเริ่มเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น เมื่อหน่วยงานรัฐหลายแห่งเริ่มหยิบข้อมูลเชิงลึก มาใช้ในการกำหนดนโยบายในระดับประเทศ ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนผ่านไปสู่การบริหารงานด้วยข้อมูล (data-driven policy) อย่างแท้จริง
“นี่คือเป้าหมายสูงสุดของ BDI ที่ต้องการให้ข้อมูลกลายเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ” นายกุลิศ กล่าว
รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ กล่าวว่า BDI เร่งขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Data-Driven Nation โดยเน้น 3 แกนหลัก คือ โครงสร้างพื้นฐานข้อมูล (D-II), โครงสร้างพื้นฐานปัญญาประดิษฐ์ (ThaiLLM) และการพัฒนากำลังคนให้เข้าใจเทคโนโลยีลึก พร้อมวางรากฐานธรรมาภิบาลข้อมูลเพื่อการแลกเปลี่ยนอย่างปลอดภัย
หัวใจของการขับเคลื่อนข้อมูล คือแพลตฟอร์ม Data Integration and Intelligence Platform (D-II) ที่ BDI พัฒนาเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกภาคส่วน ไม่สร้างระบบใหม่แต่รวมศูนย์ข้อมูลที่มีอยู่ พร้อมบริการวิเคราะห์เชิงลึกโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ช่วยภาครัฐกำหนดนโยบายได้แม่นยำ ต่อยอดบริการสาธารณะ และสนับสนุนนวัตกรรมตามความต้องการของประชาชน
สำหรับ D-II รองรับเครื่องมือสำคัญ เช่น Data Linkage Engine, Data Catalog, Analytics Services, Dashboard และ Central Hashing ซึ่งช่วยปกป้องข้อมูลตามกฎหมาย ป้องกันการเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต
อีกหนึ่งแกนสำคัญคือ ThaiLLM หรือ Thai Large Language Model โครงการพัฒนา AI ภาษาไทยแบบโอเพ่นซอร์ส BDI ร่วมมือกับ NECTEC, VISTEC, AIEAT และ AIAT เพื่อพัฒนาโมเดลที่เข้าใจบริบทภาษา-วัฒนธรรมไทย ปัจจุบันรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่งได้แล้วกว่า 245 GB คิดเป็น 55% ของเป้าหมายเพื่อสร้างโมเดล AI ขนาดเล็กและกลาง
โดย ThaiLLM จะเป็นเวทีรวมพลังนักพัฒนาและหน่วยงานไทย เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถนำไปใช้งานและต่อยอดได้อย่างอิสระ ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติ และวางฐานให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้าน AI ของภูมิภาค
นอกจากนี้ BDI ยังพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ด้าน AI และ LLM ควบคู่กันไป โดยเน้นการเรียนรู้ที่ปฏิบัติได้จริง เสริมทักษะผ่านการประเมินแบบ Micro-Credentials เพื่อเตรียมกำลังคนไทยให้เข้าใจเทคโนโลยีลึก วิเคราะห์ข้อมูลได้ ตอบรับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ทัน
อีกทั้ง BDI วางโครงสร้างกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่โปร่งใส มีธรรมาภิบาล ด้วยมาตรฐานความปลอดภัยและเอกสารแม่แบบรองรับการใช้งานร่วมกัน ทั้งระหว่างหน่วยงานรัฐ และรัฐกับเอกชน เพื่อลดอุปสรรคการแบ่งปันข้อมูล และเปิดทางให้ใช้ข้อมูลได้อย่างคุ้มค่า
"ทั้ง D-II, ThaiLLM และการพัฒนากำลังคน จะเป็น 3 เสาหลักที่ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยข้อมูลและเทคโนโลยี เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ออกแบบมาเพื่อคนไทยอย่างแท้จริง” รศ.ดร.ธีรณี กล่าว