สภาผู้บริโภคซัด กสทช. เปิดทางทุนใหญ่ฮุบคลื่นมือถือ ฟ้องศาลปกครองสั่งเบรกประมูล โวยรัฐเสี่ยงเสียค่าโง่หมื่นล้าน ผู้บริโภคถูกมัดมือชก ไร้สิทธิ-ไร้เสียง
สภาองค์กรของผู้บริโภค, เครือข่ายองค์กรของผู้บริโภค และชมรมสันติประชาธรรม ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้มีคำสั่งเพิกถอนประกาศของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การอนุญาตใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ในย่าน 2100 MHz และ 2300 MHz โดยให้เหตุผลว่า อาจขัดต่อหลักกฎหมาย ทั้งในด้านขั้นตอน วิธีการ และเงื่อนไขการประมูล ที่ไม่สะท้อนสภาพตลาดและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงการฟ้องสำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. ด้วยตั้งเป้าหมายเพิกถอนประกาศและปรับปรุงหลักเกณฑ์
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า การฟ้องร้องในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนประกาศของ กสทช. และให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาด และมีกลไกควบคุมคุณภาพบริการหลังการประมูลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับบริการโทรคมนาคมที่มีคุณภาพและราคาที่เหมาะสม
ปัจจุบัน ตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทยมีผู้ประกอบการหลักเพียง 2 รายใหญ่คือ AIS และ TRUE ส่งผลให้การแข่งขันลดลงอย่างมาก แต่ประกาศของ กสทช. กลับไม่มีมาตรการที่เพียงพอในการรองรับความเสี่ยงจากโครงสร้างตลาดที่ผูกขาด เช่น ไม่มีการกำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดก่อนการประมูลเพื่อควบคุมราคาค่าบริการในอนาคต ไม่มีการกำหนดเพดานราคาค่าบริการในกรณีที่ผู้ชนะการประมูลมีอำนาจเหนือตลาด หรือไม่กำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องเสนอแผนคุ้มครองผู้บริโภคอย่างชัดเจน
หลังการควบรวมกิจการ TRUE และ AIS ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 97.29% โดยไม่มีคู่แข่งรายใดสามารถต่อกรได้ ยิ่งไปกว่านั้น การประมูลครั้งนี้ยังคาดว่าจะไม่มีผู้เข้าร่วมรายใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ NT ไม่พร้อมเข้าร่วมประมูลตามที่เคยประกาศไว้ และไม่มีอุปกรณ์โครงข่ายรองรับการใช้งานคลื่น 2100 MHz และ 2300 MHz ขณะที่ TRUE และ AIS ต่างมีอุปกรณ์โครงข่ายรองรับคลื่นที่ตนถือสิทธิ์อยู่แล้ว ทำให้โอกาสในการแข่งขันแทบไม่มี และเปิดทางให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ครองตลาดโดยไร้คู่แข่ง
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่มีมติอนุมัติให้ NT เข้าร่วมประมูล และ NT เองก็ยังไม่มีความชัดเจนในการเตรียมตัวเข้าร่วมแข่งขัน ทั้งที่การประมูลจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งลดโอกาสของ NT ในการคงอยู่ในตลาด และลดโอกาสในการแข่งขันของผู้เล่นที่ไม่ใช่ทุนขนาดใหญ่
นายอิฐบูรณ์ กล่าวว่า ยังไม่มีแนวทางสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาด และการกำหนดราคาขั้นต่ำของการประมูลก็ต่ำกว่าปกติอย่างมากเมื่อเทียบกับรายได้จากการเช่าคลื่นความถี่ในอดีต
1.คลื่น 2100 MHz มีราคาขั้นต่ำเพียง 4,500 ล้านบาทต่อ 15 ปี หากประมูลหมดทั้ง 3 ชุด รัฐจะมีรายได้เพียง 13,500 ล้านบาท ขณะที่ NT เคยปล่อยเช่าในอัตราปีละ 3,900 ล้านบาท หากครบ 15 ปี จะสร้างรายได้ถึง 58,500 ล้านบาท
2.คลื่น 2300 MHz กำหนดราคาขั้นต่ำไว้ที่ 2,596.15 ล้านบาทต่อ 15 ปี หากประมูลหมดทั้ง 6 ชุด จะนำรายได้เข้ารัฐเพียง 15,576 ล้านบาท ขณะที่ NT เคยปล่อยเช่าคลื่นนี้ปีละ 4,510 ล้านบาท หากรวม 15 ปี จะมีรายได้ถึง 67,650 ล้านบาท
"การตั้งราคาประมูลต่ำขนาดนี้ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของรัฐ และอาจทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับผลประโยชน์จากต้นทุนที่ลดลง เช่น ค่าบริการที่ควรถูกลงแต่ไม่มีการบังคับหรือกลไกควบคุม" นายอิฐบูรณ์ กล่าว
นายอิฐบูรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ยื่นหนังสือถึง กสทช. คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนกระบวนการจัดประมูล แต่ไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ ทำให้เห็นว่าการปล่อยให้การประมูลดำเนินต่อไปโดยไม่มีการแก้ไข อาจสร้างความเสียหายต่อรัฐและผู้บริโภคในระยะยาว จึงต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ
สำหรับคำร้องที่ยื่นต่อศาลปกครองในครั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค ขอให้ศาลมีคำสั่ง 5 ประการ ได้แก่
1.เพิกถอนประกาศ กสทช. ในส่วนของคลื่น 2100 MHz และ 2300 MHz
2.ให้แก้ไขการกำหนดราคาขั้นต่ำในการประมูลคลื่น 2100 MHz และ 2300 MHz ให้มีความเหมาะสมและอ้างอิงจากค่าเช่าในสัญญาต่างตอบแทนที่ NT ทำสัญญากับกลุ่มบริษัท ทรู และ AWN เพื่อประโยชน์ของชาติและการคุ้มครองผู้บริโภค
3.ให้จัดประมูลแยกกันตามคลื่นความถี่ โดยคำนึงถึงสภาพการแข่งขันของตลาดที่เหลือเพียงสองราย และกำหนดเงื่อนไขหรือวิธีการประมูลที่ส่งเสริมให้เกิดผู้เข้าแข่งขันรายใหม่ รวมถึงกำหนดให้ผู้ประมูลต้องเสนอแผนคุ้มครองผู้บริโภคอย่างชัดเจน
4.ให้กำหนดให้มีการบริหารจัดการคลื่นโทรคมนาคมเพื่อบริการสาธารณะ โดยผ่าน NT และให้บริษัทที่ชนะการประมูลทำสัญญาเช่ากับ NT และนำค่าเช่าส่งเป็นรายได้กลับเข้ารัฐ
5.ให้กำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อป้องกันการผูกขาดและก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง