เหลียง เหวินเฟิง (Liang Wenfeng) คือหนุ่มลึกลับผู้ส่ง "ดีปซีก" (DeepSeek) มาสร้างแรงสั่นสะเทือนโลกปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทั้งใบตั้งแต่ช่วงต้นปี 2025 ทำให้บริษัทการเงินใน Wall Street หวั่นไหว ขณะเดียวกันยังเป็นจุดสนใจของบริษัทน้อยใหญ่ในวงการไอทีที่ไม่อาจมองข้ามไปได้
เส้นทางของเหลียงเรื่องการก่อตั้ง DeepSeek นั้นเข้มข้น และความอัจฉริยะของเหลียงก็ทำให้บริษัท AI สตาร์ทอัปจากจีนสามารถทำสิ่งที่หลายคนเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ ซึ่งทั้งหมดทำให้เหลียงกลายเป็นหนึ่งในขุนพลไอทีจีนที่ถูกวางตัวเป็นแกนนำประเทศในการต่อสู้กับอิทธิพลจากสหรัฐอเมริกา
***เหลียงลึกลับ?
ย้อนไปในปี 1985 เด็กชายเหลียง เหวินเฟิง เกิดและเติบโตในหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อมิลิลิง ในมณฑลกวางตุ้ง พ่อแม่เป็นครูประถม และไม่มีใครรู้มาก่อนว่าเด็กชายคนนี้จะทำให้หุ้นเทคโนโลยีอเมริกันร่วงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในคืนเดียว
สิ่งที่น่าสนใจคือใครๆ ก็หาภาพของเหลียงไม่เจอ นักข่าวจากบลูมเบิร์ก (Bloomberg) บอกว่าต้องค้นหาทั่วอินเทอร์เน็ต แต่เจอแค่ภาพเดียวที่เหลียงเดินทางไปพบปะกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
การเข้าพบท่านสีเป็นผลจากการส่ง DeepSeek ไปสั่นสะเทือนโลกเทคโนโลยี เนื่องจากสิ่งที่เหลียงทำนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เมื่อเทียบกับมาตรฐานเดิมๆ ของวงการ AI เวลานั้นเรื่องราวของ DeepSeek ถูกโยงกับตัวเลขช็อกโลก ทั้งการที่ OpenAI ใช้เงินประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ในการพัฒนา ChatGPT แต่ DeepSeek อ้างว่าใช้ไปแค่ 5.6 ล้านดอลลาร์เท่านั้น คำนวณได้เป็นราคาที่ถูกกว่า 20 เท่าตัว แต่ให้ประสิทธิภาพเทียบเท่า หรือดีกว่าในบางกรณี
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้นักลงทุนในอเมริกาตื่นตระหนก เพราะถ้าจีนทำ AI ได้ด้วยต้นทุนต่ำเช่นนี้ แล้วอนาคตของบริษัทเทคโนโลยีอเมริกันจะเป็นอย่างไร?
เบื้องหลังความสำเร็จของเหลียงไม่ได้เริ่มต้นจากเส้นทาง AI โดยตรง เหลียงเริ่มจากการเป็นนักเรียนเรียนดีที่มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง แล้วมาก่อตั้งกองทุน Hedge Fund ชื่อ High-Flyer ที่ทำกำไรได้ปีละ 35%
ที่น่าสนใจคือ เหลียงใช้ AI ในการซื้อขายหุ้นตั้งแต่ปี 2019 และเก็บซื้อชิปประมวลผลกราฟฟิก GPU ของ Nvidia มาเรื่อย จนกระทั่งมีชิปถึง 10,000 ตัว คิดเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์
แต่แล้วเมื่อ ChatGPT เปิดตัวในปี 2023 เหลัยงจึงตัดสินใจหันมาทำ AI เต็มตัว แยกตัวออกมาตั้ง DeepSeek แล้วเลือกใช้เทคนิคที่เปลี่ยนเกม ทำให้ DeepSeek แตกต่างด้วยเทคนิคที่เรียกว่า "Sparsity"
เปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย คือ AI ดั้งเดิมนั้นเทียบได้กับการใช้สมองทั้งหมดในการคิดปัญหาเดียว แต่ DeepSeek ใช้แค่ส่วนของสมองที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้น ทำให้การตอบคำถามคณิตศาสตร์นั้นใช้แค่ส่วนคณิตศาสตร์ของสมอง ไม่ต้องเปิดส่วนภาษาหรือดนตรีด้วย
ผลลัพธ์คือ DeepSeek ประหยัดพลังงานและต้นทุนมหาศาล แต่ให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำเท่าเดิม
นอกจากแกนเทคโนโลยี DeepSeek ยังมีมุมที่โดดเด่นเรื่องวัฒนธรรมองค์กร รายงานจากสื่อต่างประเทศชี้ว่าวัฒนธรรมการทำงานที่ DeepSeek ไม่ธรรมดาเพราะเหลียงได้สร้างสภาพแวดล้อมแบบ "ไม่มีลำดับขั้น" เพราะทุกคนที่มีไอเดียดี ไม่ว่าจะเป็นแค่นักศึกษาฝึกงาน ก็สามารถเข้าถึงซูเปอร์คอมพิวเตอร์มูลค่าหลายล้านดอลลาร์ได้ทันที โดยไม่ต้องขออนุมัติจากใคร
วัฒนธรรมแบบนี้ทำให้เกิดนวัตกรรมอย่างรวดเร็ว เพราะคนที่มีความคิดสร้างสรรค์สามารถทดลองได้ทันที ขณะเดียวกัน ผลกระทบของ DeepSeek จึงกว้างไกลสู่การแข่งขัน AI โลก โดยไมโครซอฟท์ (Microsoft) และอะเมซอน (Amazon) เดินหน้านำโมเดลของ DeepSeek มาใส่ในเซอร์วิสของตัวเอง รวมถึงบริษัทอย่างเพอร์เพล็กซิตี้ (Perplexity) ตัดสินใจใช้โมเดลของ DeepSeek แล้วปรับแต่งให้เหมาะกับค่านิยมตะวันตก
วันนี้ DeepSeek กลายเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ฝั่งอเมริกาเริ่มตั้งคำถามว่ายุทธศาสตร์การห้ามขายชิปให้จีนนั้นมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ เนื่องจากจีนพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าข้อจำกัดกลับทำให้เกิดนวัตกรรมที่แข็งแกร่งขึ้น
แน่นอนว่า DeepSeek เป็นเผือกร้อนของสภาผู้แทนราษฎรอเมริกัน ล่าสุดมีการออกรายงานกล่าวหาว่า DeepSeek มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลจีน บางความเชื่อโยงไปว่าอาจมีการขโมยข้อมูลจาก OpenAI และสรุปว่า DeepSeek เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติอเมริกัน
ในขณะที่สถานทูตจีนปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้ว่าไร้มูลความจริง มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญนั้นมีหลากหลาย แม้แต่เจนเซน หวง (Jensen Huang) CEO ของเอ็นวิเดีย (Nvidia) เคยเตือนไว้ล่วงหน้าเมื่อปี 2023 ว่าการจำกัดการขายเทคโนโลยีให้จีน จะกระตุ้นให้จีนสร้างนวัตกรรมที่เหนือกว่า โดยบอกว่า "คนที่ไม่มีอะไรจะเสียจะตอบสนองในแบบที่ไม่มีใครคาดคิด" และสิ่งที่เกิดขึ้นกับ DeepSeek ก็ดูเหมือนจะพิสูจน์คำทำนายนี้แล้วเรียบร้อย
เช่นเดียวกัน เรื่องราวของเหลียง เหวินเฟิง อัจฉริยะผู้ลึกลับแห่ง DeepSeek ก็พิสูจน์ให้โลกเห็นว่านวัตกรรมที่แท้จริงไม่ได้มาจากการมีเงินทุนมากที่สุด แต่มาจากการคิดแตกต่าง ความมุ่งมั่น และการสร้างวัฒนธรรมที่เหมาะสม.