xs
xsm
sm
md
lg

ทำไม ‘iPad’ กลายเป็นเครื่องมือ เพื่อการศึกษายุคใหม่? (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในบรรดาทิศทางการทำตลาดของแบรนด์เทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก การเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้จำนวนมากทั่วโลกผ่านโปรแกรมสนับสนุนด้านการศึกษาที่ทำให้เกิดความคุ้นชินในการใช้งาน ทำให้เข้าถึงอีโคซิสเตมส์ และก่อให้เกิดการใช้งานต่อเนื่องในระยะยาว อาจไม่ใช่เรื่องแปลก

เพราะนักเรียน นักศึกษาไทย ในยุคที่ผ่านมา อาจต้องเคยผ่านเครื่องมือที่ใช้ในการเรียน การสอน อย่างการใช้ Microsoft Office เพื่อทำรายงาน หรือพรีเซนเทชั่น ต่อเนื่องมาถึงการใช้งาน Google Workspace ที่เป็นชุดเครื่องมือแบบออนไลน์ ที่สนับสนุนให้นักเรียน - นักศึกษาใช้งานกัน

แต่ในอีกมุมเทรนด์ของการใช้งานดีไวซ์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เปลี่ยนแปลงไป จากการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียน เปลี่ยนแปลงสู่ยุคของการใช้งานแท็บเล็ต ที่เห็นชัดจากกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย ก่อนขยายไปสู่ระดับชั้นมัธยม และประถมศึกษา ที่ในบางโรงเรียน iPad กลายเป็นอุปกรณ์ไอทีชิ้นแรกที่นักเรียนหลายๆ คนได้สัมผัส

เพราะในโลกของการเรียน การศึกษายุคใหม่ โดยเฉพาะในยุคการเรียนรู้ที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ และแสดงออกความต้องการ การมีเทคโนโลยีเข้ามาให้นักเรียน นักศึกษาเข้าถึงได้เร็วเท่าไหร่ ยิ่งเปิดโลก และโอกาสในการเรียนรู้ได้เร็วขึ้นเท่านั้น

โดมินิค ลิชติ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ระดับโลก สำหรับภาคการศึกษา ให้สัมภาษณ์ว่า จากวิสัยทัศน์ของ Apple ที่ให้ความสำคัญกับแวดวงการศึกษามากว่า 40 ปี ด้วยการทำงานร่วมกับนักการศึกษา สถาบันการศึกษาต่างๆ คือการที่เห็นว่า ผู้เรียนทุกคนสมควรได้รับประสบการณ์เรียนรู้ที่ทุกคนมีส่วนร่วม

“สตีฟ จ็อบส์ เคยกล่าวถึงวิสัยทัศน์นี้ไว้ว่า เราจำเป็นต้องสร้างทักษาะที่จุดประกายความอยากรู้อยากเห็น เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ และความมั่นใจให้แก่เด็ก และเยาวชน ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคตของพวกเขา”


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เปลี่ยนแปลงตามมาคือแนวทาง และวิธีการสอน ที่ปรับเปลี่ยนให้เด็กๆ มีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งส่วนสำคัญคือครู อาจารย์ต้องให้ความสนใจกับเด็กๆ มากขึ้นด้วย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ที่สอนให้เด็กๆ เรียนรู้จากประสบการณ์ และการทำงานร่วมกัน

“แอปเปิล มีการออกแบบเทคโนโลยีที่คำนึงถึงการเรียนรู้เชิงรุก ที่หมายถึง การเพิ่มความสามารถในการสอน และความสามารถในการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งไม่ควรถูกจำกัดด้วยเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น iPad หรือ Mac ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นอุปกรณ์ที่เหมาะกับการนำไปใช้เพื่อการเรียนรู้”

ขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์อย่าง iPad ถ้ามองในแง่ของการพกพาคือเป็นแท็บเล็ตที่มีน้ำหนักเบา พกพาสะดวก เมื่อเทียบกับการพกหนังสือเรียนเล่มหนาๆ นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ในการจดโน้ต ใช้กล้องถ่ายภาพเพื่อประกอบข้อมูล รวมถึงการบันทึกเสียง ซึ่งความสามารถเหล่านี้ นับเป็นฟีเจอร์เริ่มต้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การใช้งาน iPad ในมุมของการศึกษาคือการใช้แบบแอคทีฟ เพื่อการเรียนรู้ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเด็กมากกว่า ไม่ใช่การใช้งานเพื่อเข้าถึงคอนเทนต์ ดังนั้นจึงควรที่จะควบคุมให้เหมาะสม

***สนับสนุนผ่าน ‘ผู้เชี่ยวชาญการเรียนรู้’

ความน่าสนใจการให้การสนับสนุนทางด้านการศึกษาของ Apple ไม่ว่าจะเป็นทั่วโลก หรือในไทย คือไม่ได้เริ่มจากการเข้าไปนำเสนอขายสินค้า เพื่อให้สถาบันการศึกษาเลือกใช้งาน แต่เลือกที่จะเตรียมความพร้อมในการเข้าไปสนับสนุนเมื่อสถานศึกษาเหล่านั้นเลือกลงทุนใช้งานสินค้าในอีโคซิสเตมส์ของ Apple

เมื่อดูจากเป้าหมายในการนำผลิตภัณฑ์ของ Apple ไปใช้งาน เพื่อที่จะได้นำประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญจากการทำงานด้านการศึกษาไปช่วยพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน ไปจนถึงหลักสูตรให้มีความเป็น Active Learning มากขึ้น พร้อมเปิดแพลตฟอร์มเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญการเรียนรู้ระดับมืออาชีพของ Apple ได้เข้าไปแชร์หลักสูตรออนไลน์ร่วมกัน

สำหรับโครงการล่าสุด ที่แอปเปิล นำทีมงานเข้าไปสนับสนุนคือมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ที่นับเป็นศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ในภาคใต้ ที่เปิดทางให้มหาวิทยาลัยราชภัฏอื่นๆ ที่มีความสนใจ หรือต้องการนำอุปกรณ์อย่าง iPad ไปให้นักเรียน - นักศึกษาใช้งานก็สามารถทำเรื่องเพื่อมาขอยืมอุปกรณ์ไปใช้ในการเรียน การสอนได้


ดร.ศิริวรรณ ฉัตรมณีรุ่งเรือง คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ให้ข้อมูลว่า ด้วยการที่ราชภัฏภูเก็ต เป็นศูนย์กลางจัดการเรียนการสอน หรือการแบ่งปันองค์ความรู้ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในห้องเรียนครุศาสตร์ แต่ยังมีการนำประสบการณ์จากชุมชนมาร่วมในการออกแบบการเรียนการสอน

“เราไม่สามารถสร้างครูแบบบล็อกเดียวได้ เพราะต้องดูก่อนว่าพื้นที่ที่ครูเหล่านี้จะไปทำงานต้องการครูแบบไหน เพราะนักศึกษาที่จบออกไปเป็นครู อาจารย์อยู่ในพื้นที่ ต้องทำให้เป็นชุมชนเห็นการเรียนรู้ให้ได้”

ดร.ศิริวรรณ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการนำผลิตภัณฑ์ Apple มาใช้งาน มาจากการขอเงินทุนสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ได้ลองใช้งานอุปกรณ์ของ iOS ที่เปิดให้ทุกคนสามารถเข้ามาทำงานร่วมกันได้ และมีความเสถียร สามารถใช้งานร่วมกันในอีโคซิสเตมส์ได้

โดยที่ปัจจุบันราชภัฏภูเก็ต มีอุปกรณ์อย่าง iPad ทั้งหมด 104 เครื่อง iMac 24 เครื่อง และ MacBook 10 เครื่อง ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ ให้นักศึกษายืมใช้งานได้ฟรี รวมถึงมหาวิทยาลัย หรือโรงเรียนในพื้นที่ภาคใต้ที่ต้องการนำอุปกรณ์ไปใช้กับการเรียน ก็สามารถนำเสนอโครงการมาเพื่อนำไปใช้งานได้

หนึ่งในตัวอย่างของโรงเรียนที่มีการนำ iPad ไปให้นักเรียนระดับประถมฯ ได้ใช้งานคือ โรงเรียนเกาะมะพร้าว ที่เป็นการเชื่อมโยงห้องเรียนของชุมชน ด้วยการเปิดให้นักเรียนนำ iPad ไปใช้ในการเรียนรู้จากสถานที่จริง ลงไปศึกษา และเก็บข้อมูลร่วมกับชุมชน


จริยาภรณ์ สังข์จรูญ ผู้อำนวยการโรงเรียนเกาะมะพร้าว กล่าวว่า การมีโครงการแบบนี้จะเข้ามาสร้างประสบการณ์ในการเรียนที่มีความสนุก เด็กสามารถสืบค้นข้อมูลบางอย่างที่ไม่ทราบ หรือไม่มีความรู้มาก่อน บนพื้นฐานของการที่นักเรียนทุกคนมีความเสมอภาค ได้ใช้งานเทคโนโลยีแบบเท่าเทียม


กำลังโหลดความคิดเห็น