ดีป้าเขย่าชนบท! ดันโครงการ OTOD Smart Living ปลุกเกษตรกรไทย อัปเกรดชีวิตด้วยเทคโนโลยี ปั้นเศรษฐกิจใหม่หมุน 170 ล้านบาท
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยว่า ดีป้า เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการ "1 ตำบล 1 ดิจิทัล สมาร์ทลีฟวิ่ง" (One Tambon One Digital Smart Living: OTOD Smart Living) หวังยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนและเกษตรกรทั่วประเทศผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเป็นการต่อยอดจากโครงการที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2566
โครงการ OTOD Smart Living ในปีนี้มุ่งเน้นการพัฒนาเมืองอัจฉริยะผ่านการนำเทคโนโลยีมาใช้จริงในระดับหมู่บ้านและชุมชน เพื่อยกระดับการใช้ชีวิต การเกษตร และความปลอดภัย โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
ประเภทแรก "Smart Living" ใช้ระยะเวลาดำเนินงาน 1 ปี ครอบคลุม 40 ชุมชนในจังหวัดที่มีเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ กลุ่มเป้าหมายจะได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยี 5 รายการ ได้แก่ แทรกเตอร์การเกษตรอัจฉริยะ กล้องวงจรปิดพลังงานแสงอาทิตย์ ไฟส่องสว่างอัจฉริยะพลังงานแสงอาทิตย์ โดรนเพื่อการเกษตร และ IoT การเกษตรอัจฉริยะ
ส่วนประเภทที่สอง "Smart Living Plus" มีระยะเวลาดำเนินงาน 1 ปีเช่นกัน ครอบคลุม 5 ชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นทางการ โดยจะได้รับเทคโนโลยีเพิ่มเติมจากชุดแรก รวมเป็น 6 รายการ ได้แก่ แพลตฟอร์มคาร์บอนด้านการเกษตร แทรกเตอร์การเกษตรอัจฉริยะ กล้องวงจรปิดพลังงานแสงอาทิตย์ ไฟส่องสว่างอัจฉริยะพลังงานแสงอาทิตย์ โดรนเพื่อการเกษตร และ IoT การเกษตรอัจฉริยะ
ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะสู่พื้นที่ชนบท ไม่ใช่เพียงแค่การติดตั้งเทคโนโลยี แต่เน้นการสร้างความเข้าใจและการประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ชุมชนมีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยตนเอง
"ดีป้าตั้งเป้าว่าจะยกระดับทักษะและองค์ความรู้ด้านดิจิทัลให้กับประชาชนไม่น้อยกว่า 2,700 คน จาก 900 ครัวเรือนทั่วประเทศ และคาดว่าจะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจมูลค่าไม่น้อยกว่า 170 ล้านบาท" ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าว
ขณะเดียวกัน โครงการ OTOD เดิมที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2566 ได้สร้างรากฐานการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตรอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้โดรนเพื่อการเกษตร รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มเพาะปลูกสำหรับพืชมูลค่าสูง เช่น ทุเรียน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างโครงข่ายความรู้ดิจิทัลในระดับชุมชน
ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีประชากรกว่า 30 ล้านคนหรือกว่าครึ่งประเทศที่อยู่ในภาคการเกษตร และยังคงต้องเผชิญกับปัญหาซ้ำซาก ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม ต้นทุนสูง และราคาผลผลิตที่ผันผวน ขณะเดียวกันก็ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีและความรู้ด้านดิจิทัลที่เหมาะสม
"โครงการ OTOD ไม่ใช่แค่โครงการแจกอุปกรณ์หรือเทคโนโลยี แต่เป็นการเปิดประตูให้เกษตรกรทั่วประเทศได้เข้าถึงโอกาสใหม่ในโลกดิจิทัล เข้าใจวิธีใช้ และเปลี่ยนเป็นรายได้จริงในชีวิต ยืนยันว่าจะเดินหน้าขยายผลโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเปิดพื้นที่ใหม่เพื่อรองรับชุมชนที่มีศักยภาพ และประเมินผลลัพธ์จากพื้นที่นำร่องเพื่อปรับปรุงโมเดลการพัฒนาอย่างยั่งยืน" ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าว