ดีอี-ETDA รวมตัวออกแบบอนาคตดิจิทัลไทยให้เดินหน้าอย่างมีทิศทาง สานฝันเป้าหมายผลักดันให้ ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ มีสัดส่วนถึง 30% ของ GDP ให้ได้ภายในปี 2570 ลุยยกระดับประเทศไทยให้ติด Top 30 อันดับแรกของโลกในตาราง Digital Competitiveness
รายละเอียดภารกิจเร่งขับเคลื่อนศักยภาพดิจิทัลไทยสู่การเติบโตของ GDP นี้ถูกเผยโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA และสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงานสัมมนา “Navigating Thailand’s Sustainable Digital Future” ซึ่งเป็นเวทีที่เปิดพื้นที่ให้ภาครัฐและเอกชนร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลระดับ Top 30 อันดับแรกของโลก และผลักดันให้เศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 30% ของ GDP ภายในปี 2570 จากปัจจุบันที่ครองสัดส่วน 25%
***เศรษฐกิจดิจิทัล = เครื่องยนต์ใหม่
ดร.ปิยนุช วุฒิสอน รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงบทบาทและแนวทางการผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลของกระทรวงฯ ว่า กระทรวงฯ มุ่งส่งเสริมให้เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของประเทศ โดยตั้งเป้าให้เศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30% ของ GDP ภายในปี 2570 จากเดิมที่อยู่ที่ประมาณ 25% ในปี 2567 การเติบโตนี้เกิดจากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในภาคการผลิตและบริการ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการดำเนินงานดีขึ้น และช่วยขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม เศรษฐกิจดิจิทัลจึงถือเป็น "เครื่องยนต์ใหม่" ของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเผชิญกับความผันผวนและความไม่แน่นอนจากประเด็นข้อพิพาทระหว่างประเทศมหาอำนาจที่กำลังเกิดขึ้น
ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายออนไลน์ (e-Commerce) หรือการใช้บริการผ่านแอปฯ ต่างๆ เช่น ขนส่งและเดินทาง ซึ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งของ "เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม" (Platform Economy) ที่เติบโตอย่างรวดเร็วและส่งผลเชิงบวกต่อภาคการผลิตและการลงทุนของประเทศ และเพื่อสนับสนุนเป้าหมายนี้ กระทรวงฯ ยังตั้งเป้าให้ไทยก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 30 ประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลสูงที่สุดในโลก ตามการจัดอันดับ World Digital Competitiveness Ranking โดย IMD ภายในปี 2570 (จากอันดับ 37 ในปี 2567) พร้อมทั้งยกระดับทักษะการรู้เท่าทันสื่อและความเข้าใจดิจิทัลของประชาชนให้มีคะแนนเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 80 คะแนน จากเดิม 74.4 คะแนนในปี 2566
ทั้งนี้ ดีอีได้เร่งดำเนินการผ่านการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งรัฐและเอกชนใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.Thailand Competitiveness – ยกระดับความรู้ ทักษะ และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ 2.Safety & Security – เสริมความมั่นคงปลอดภัยในการใช้งานดิจิทัล 3.Human Capital – พัฒนาศักยภาพบุคลากรดิจิทัลในทุกระดับ
“รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ทั้งในการทำงานและบริการต่าง ๆ โดยเน้นสร้างบุคลากรที่มีทักษะในการใช้งาน AI รวมถึงนักพัฒนาและผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ เพื่อให้เทคโนโลยีดิจิทัลและ AI ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในหลากหลายสาขา อาทิ การเงิน อุตสาหกรรม และสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพและสมดุล” ดร.ปิยนุช กล่าว
***4 แผน ETDA ดันเศรษฐกิจดิจิทัล
นายมีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการ ETDA เชื่อว่าการผลักดันให้เศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วนถึง 30% ของ GDP ประเทศไทยภายในปี 2570 และขยับอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยขึ้นสู่อันดับที่ 30 ของโลกนั้น ภาครัฐต้องไม่เพียงแค่ออกกติกา แต่ต้องเป็นผู้ร่วมออกแบบและผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้นจริง เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพ และช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น จากระดับรายได้เฉลี่ยปัจจุบัน 7,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 261,000 บาท) ไปสู่เป้าหมายที่ 14,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 470,000 บาท) ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และก้าวสู่ประเทศรายได้สูงอย่างยั่งยืน
ในการเดินหน้าเศรษฐกิจดิจิทัล ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ETDA ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกำหนดแนวทางการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและ AI ที่สอดคล้องกันอ โดยในปี 2568 ETDA จะเน้นการทำงานใน 4 ด้านหลัก หนึ่งในนั้นคือ Digital Infrastructure and Ecosystem การสนับสนุนการใช้งาน Digital ID และ E-service ทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมถึงส่งเสริมการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์
ด้านที่ 2 คือ Digital Service and Governance ขยายการใช้บริการ Digital Platform อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากแพลตฟอร์ม ด้านที่ 3 คือ Digital Adoption & Transformation สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะในธุรกิจขนาดกลางและเล็ก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน
และด้านที่ 4 คือ Digital Workforce Literacy & Protection พัฒนาหลักสูตร e-learning และทักษะดิจิทัลเฉพาะทาง รวมถึงจัดทำศูนย์รวมข้อมูลความรู้กลาง (Content Management)
"ทั้ง 4 แนวทางนี้มีจุดมุ่งหมายร่วมกันคือ สร้างรากฐานที่แข็งแรงให้กับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและ AI เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนา”
ความเห็นน่าสนใจจากงานเสวนานี้ที่ถูกยกมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม คือการยกให้ “แพลตฟอร์มดิจิทัลแบบบูรณาการ” คือกลไกสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนา โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และพฤติกรรมผู้บริโภคหันมาใช้บริการออนไลน์เป็นหลัก ด้านภาครัฐควรเน้นบทบาทสำคัญในการวางรากฐาน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและเครือข่ายดาวเทียม การออกแบบระบบบริการสาธารณะที่ไม่ซ้ำซ้อน และการรวมบริการกว่า 4,000 รายการเข้าสู่แพลตฟอร์มเดียว เช่น “ทางรัฐ” และ “Biz Portal” ซึ่งช่วยให้ประชาชนและภาคธุรกิจเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น ในขณะที่ภาคการส่งออกยังได้รับการสนับสนุนผ่านระบบ “Thailand National Single Window”
พร้อมกันนี้ ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจดิจิทัล 20 ปี (2560–2580) ได้รับการดำเนินการต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งการสร้างคนดิจิทัล การส่งเสริมนวัตกรรม การยกระดับบริการภาครัฐ และการออกกฎหมายดิจิทัลที่สอดรับกับบริบทใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เศรษฐกิจดิจิทัลกลายเป็น “กลไกใหม่” ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ภาคเอกชนยังเน้นย้ำว่า รัฐควรเปิดโอกาสให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกัน เช่น การใช้ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน พร้อมเรียกร้องให้ภาครัฐพิจารณาปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย และเปิดช่องทางเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ อย่างมีมาตรฐาน แม้ประเทศไทยจะมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่เข้มแข็งและมีศักยภาพ แต่จากการจัดอันดับ Global AI Index 2024 พบว่าไทยยังเป็น “ผู้ตาม” ในการใช้ AI เทียบกับประเทศผู้นำในอาเซียนอย่างสิงคโปร์ นั่นจึงเป็นโจทย์สำคัญที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน เพื่อเร่งยกระดับขีดความสามารถของประเทศในการแข่งขันในเวทีโลก เป็นต้น .