xs
xsm
sm
md
lg

ดีอีดัน Dsure คุมซอฟต์แวร์ต่างชาติ หักภาษี 200%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไทยเปิดเกมใหญ่! ดีอีผนึกยักษ์ไอที ดัน 'Dsure' ปฏิวัติมาตรฐานซอฟต์แวร์ หักภาษี 200% คุมเข้มนำเข้า ปักหมุดเวทีโลกท้าชนศึกเศรษฐกิจดิจิทัล

เมื่อวันที่ 19 พ.ค.68 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอี ผนึกกำลังหน่วยงานในสังกัดและเครือข่ายพันธมิตร พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย พร้อมเปิดประเทศรับการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี เช่น AWS, Microsoft และ Google โดยเฉพาะในด้าน Data Center และบริการ Cloud

ควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการดิจิทัล ผ่านกลไกบัญชีบริการดิจิทัล ซึ่งมีบทบาทคัดกรองและตรวจสอบคุณภาพ ปัจจุบันมีบริษัทที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว 109 ราย ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ 702 รายการ

อีกภารกิจสำคัญ คือ การเป็นเจ้าภาพจัดงาน Global ISO Conference 2025 การประชุมประจำปีของคณะอนุกรรมการด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์และระบบ (ISO/IEC JTC1/SC7) ระหว่างวันที่ 8-13 มิ.ย.68 นี้ ซึ่งถือเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และร่วมกำหนดมาตรฐานซอฟต์แวร์ในระดับสากล

การประชุมครั้งนี้ไม่เพียงสร้างโอกาสให้มาตรฐานซอฟต์แวร์ของไทยก้าวสู่การยอมรับในระดับโลก แต่ยังเปิดประตูสู่ความร่วมมือ สร้างความเชื่อมั่น และวางรากฐานอนาคตเศรษฐกิจดิจิทัลไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนเข้าถึงสินค้าและบริการที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ และเป็นธรรมต่อผู้บริโภคทุกระดับ

ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพการประชุม Global ISO Conference 2025 เวทีสำคัญด้านการกำหนดมาตรฐานซอฟต์แวร์ระดับโลก โดยมีคณะอนุกรรมการด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์และระบบ (ISO/IEC JTC 1/SC 7) ซึ่งเป็นหน่วยงานย่อยภายใต้การกำกับของ ISO และ IEC เป็นแกนกลางในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางเทคนิค ระหว่างผู้แทนจาก 21 ประเทศทั่วโลก

เวทีนี้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดมาตรฐานสากลสำหรับระบบซอฟต์แวร์ ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการพัฒนา การจัดการ การประเมินผล ไปจนถึงแนวทางด้านจริยธรรมและความน่าเชื่อถือของระบบสารสนเทศ เพื่อให้ระบบซอฟต์แวร์ทั่วโลกมีความปลอดภัย มีคุณภาพ และทำงานร่วมกันได้บนพื้นฐานของกฎหมาย

ในฝั่งไทย ภาครัฐเดินหน้าสร้างระบบมาตรฐานซอฟต์แวร์สำหรับผู้ประกอบการ ภายใต้แนวคิด "Dsure" โดยแบ่งระดับการรับรองออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1 ดาว สำหรับมาตรฐานพื้นฐาน, 2 ดาว สำหรับมาตรฐาน Co-Green และ 3 ดาว สำหรับมาตรฐานที่รับรองการจัดเก็บข้อมูลภายในประเทศ

มาตรฐาน Dsure ไม่เพียงเพิ่มความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้งานทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ยังช่วยลดต้นทุนการเข้าถึงบริการซอฟต์แวร์คุณภาพ โดยเฉพาะกลุ่ม SME ที่มักถูกเอาเปรียบด้านราคา ทั้งนี้ ภาครัฐยังเสนอสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยผู้ประกอบการที่ใช้ซอฟต์แวร์ที่ผ่านการรับรอง Dsure สามารถนำค่าใช้จ่ายไปหักลดหย่อนภาษีได้ถึง 200% ขณะเดียวกันโรงงานขนาดใหญ่ก็อาจได้รับสิทธิ Tax Incentive เพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง

ภาครัฐยังคุมเข้มนโยบายใช้ซอฟต์แวร์ไทย ลดพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยกำหนดให้ซอฟต์แวร์ต่างชาติต้องผ่านการทดสอบด้านความปลอดภัยและความมั่นคงไซเบอร์ในประเทศ แม้ไม่ใช่มาตรการกีดกันทางการค้าโดยตรง แต่ถือเป็นแนวทางปกป้องผู้บริโภคและรักษาความมั่นคงของเศรษฐกิจดิจิทัลในระยะยาว

การประชุมครั้งนี้ยังวางแผนหารือแนวทางกำหนดมาตรฐานด้าน AI และ Green Software ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญในอนาคต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้ AI ในกระบวนการผลิต การแพทย์ และโลจิสติกส์ ซึ่งมีความเสี่ยงจากความผิดพลาดของระบบหากไม่มีการควบคุมแนวทางการพัฒนาอย่างรัดกุม

อุตสาหกรรม Cloud และ Embedded Software เองก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับแนวทาง Green เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนเป้าหมายความยั่งยืน แม้ปัจจุบันยังไม่มีข้อกำหนดชัดเจน แต่การประชุมครั้งนี้จะเป็นเวทีตั้งต้นที่ปูทางไปสู่การออกมาตรฐานในอนาคตอย่างเป็นระบบ










กำลังโหลดความคิดเห็น