xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าวิสัยทัศน์สมาคมฟินเทคไทย ฝันไกลแก้หนี้ครัวเรือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมาคมฟินเทคประเทศไทยประกาศเป้าหมายสร้างระบบการเงินที่เข้าถึงทุกคน แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เทียบเท่า 88% ของ GDP ชูแนวทางสนับสนุน Virtual Bank, Open Banking/Open Data ควบโครงการ Your Data เพื่อให้ประชาชนควบคุมข้อมูลทางการเงินของตัวเอง

นายชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย กล่าวในงาน The Future of Thailand’s Financial Sector in the Digital Era กล่าวถึงบทบาทของสมาคมฯ ในการเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างระบบการเงินที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมกล่าวว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 88% ต่อ GDP จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขผ่านนวัตกรรมทางการเงินที่เข้าถึงได้จริง

“เราคาดหวังว่าธนาคารรายใหม่ที่จะให้บริการในรูปแบบ Virtual Bank และนโยบายด้าน Open Banking / Open Data จะเปิดโอกาสใหม่ให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อด้วยต้นทุนที่ต่ำลง และสามารถบริหารจัดการหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย
วิสัยทัศน์นี้ถูกแสดงไว้เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ SCB x NEXT TECH บนเวทีเสวนาวิชาการ “The Future of Thailand’s Financial Sector in the Digital Era” โดยภาครัฐและเอกชนมาร่วมแสดงทิศทางการเงินไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัลอย่างเข้มข้น ตั้งแต่บทบาทใหม่ของ Virtual Bank ที่จะให้บริการสินเชื่อโดยไม่ต้องมีสาขา ไปถึงโมเดลการใช้ข้อมูลพฤติกรรม เช่น การผ่อนมือถือ หรือการใช้งานออนไลน์ มาใช้ประเมินเครดิตของผู้กู้ที่ไม่เคยมีชื่อในเครดิตบูโร

นายยอดฉัตร ตสาริกา ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การเงินในยุคดิจิทัลต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบกฎหมายที่เชื่อถือได้ เข้าถึงง่าย และมีประสิทธิภาพ โดยกระทรวงยุติธรรมมีบทบาททั้งในด้านการยกร่างกฎหมายใหม่ เช่น การยกเลิกความผิดอาญาเกี่ยวกับเช็ค และการพัฒนาระบบอนุญาโตตุลาการ เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

ยอดฉัตร ตสาริกา ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรมยังมีบทบาทในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมเชิงรุก และการเข้าร่วมเวทีระหว่างประเทศ เช่น การประชุม UN Congress on Crime Prevention เพื่อแสดงบทบาทเชิงนโยบายด้านกฎหมายเทคโนโลยีของไทย สะท้อนว่าภาครัฐเดินหน้ากำกับ ป้องกัน และส่งเสริมการเงินดิจิทัลเพื่อประชาชนทุกกลุ่ม

***ดันไทยสู่ศูนย์กลางฟินเทค

ดร.ณพลเดช มณีลังกา ที่ปรึกษาผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางฟินเทคและข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาค ผ่านการจัดทำพระราชบัญญัติด้าน Big Data และการส่งเสริมศูนย์ข้อมูลทางการเงิน ว่าใบอนุญาต Pico และ Nano Finance ภายใต้กรอบดอกเบี้ยที่เป็นธรรม เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการหนี้นอกระบบ


ดร.ณพลเดช ยังเสนอให้มี “คณะทำงานเฉพาะกิจระหว่างหน่วยงานรัฐ” เพื่อบูรณาการนโยบายกับการปฏิบัติจริง โดยกล่าวว่ารัฐบาลมุ่งมั่นจะเป็นศูนย์กลางฟินเทคของภูมิภาค แต่ต้องไม่ละเลยกลไกคุ้มครองประชาชนควบคู่กันไป

ดร.เอกพงษ์ หริ่มเจริญ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อธิบายบทบาทของ AOC (Anti-Online Crime Unit) ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากธนาคาร หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อตรวจสอบและระงับบัญชีต้องสงสัยได้แบบเรียลไทม์ พร้อมแนะนำให้ประชาชนใช้สายด่วน 1441 กด 1 เพื่อแจ้งเหตุหรือกด 3 เพื่อให้ข้อมูลเบาะแสกรณีฉ้อโกงทางการเงิน


พ.ต.อ.เพชรชุมพร ศรีวะรมย์ รองผู้กำกับการสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กล่าวว่า หน่วยงานมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการปล่อยเงินกู้และการทวงหนี้โดยมิชอบ พร้อมเสนอให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยที่อยู่ภายใต้การกำกับเข้ามาเติมเต็มระบบการเงินอย่างเป็นทางการ

นายสถาพร ธีรโชติสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม รายงานว่า มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ตามแนวทาง “วิถีแห่งความเป็นธรรม” ได้ช่วยประชาชนกว่า 39,000 รายภายในปีเดียว พร้อมจัดตั้งศูนย์บริการให้คำปรึกษาทั่วประเทศ เพื่อรับฟังปัญหาและประสานการแก้ไขอย่างรวดเร็ว.




กำลังโหลดความคิดเห็น