กว่า 30 ปีที่ ‘ทรูวิชั่นส์’ อยู่ในตลาดของการให้บริการกล่องทีวีแบบบอกรับสมาชิก ท่ามกลางภาพกว้างของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อผู้ให้บริการ OTT หรือบริการสตรีมมิ่งเข้าสู่ตลาดประเทศไทย ผู้บริโภคหันไปสมัครใช้งานเพื่อรับชมคอนเทนต์แบบออนดีมานด์มากขึ้น
สะท้อนมายังผลประกอบการของธุรกิจทรูวิชั่นส์ ในกลุ่มของ ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ไตรมาสล่าสุด รายได้ลงมาเหลือ 1,525 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 13.2% เช่นเดียวกับจำนวนสมาชิกที่ลดลง 10.7% เหลือผู้ใช้งานอยู่ที่ 1.2 ล้านราย โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการ (ARPU) อยู่ที่ 315 บาท
เมื่อเป็นเช่นนั้น กลยุทธ์ ที่ ทรูวิชั่นส์ จะมุ่งไปหลังจากนี้ คือการปรับตัวสู่การให้บริการแบบไฮบริด ที่ผสมผสานทั้งบริการแบบดั้งเดิม และบุกไปในธุรกิจ OTT พร้อมกัน เพื่อรักษาทั้งฐานลูกค้าเดิมที่มีกำลังซื้อ และขยายกลุ่มลูกค้าไปยังคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเข้าถึงคอนเทนต์ความบันเทิง
บนพื้นฐานของการเป็น ‘King of Content’ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในเรื่องของกีฬา แต่ยังรวมไปถึงคอนเทนต์ความบันเทิงทั้งในรูปแบบของรายการสด ช่องทีวีที่หลากหลาย เสริมด้วยเนื้อหาแบบออนดีมานด์ ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ ที่ทำงานร่วมกันมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี
จึงทำให้ ทรูวิชั่นส์ หลังจากนี้ จะให้บริการทั้งในรูปแบบของช่องรายการสด (Live TV) ไปพร้อมกับคอนเทนต์แบบออนดีมานด์ ซึ่งเป็นจุดต่างสำคัญกับผู้ให้บริการ OTT ที่ส่วนใหญ่จะเน้นเฉพาะรายการซีรีส์ และภาพยนตร์เท่านั้น
องอาจ ประภากมล หัวหน้าสายงานทรูวิชั่นส์ และมีเดีย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เล่าย้อนถึงประวัติศาสตร์ก่อนที่จะมาเป็น ‘ทรูวิชั่นส์’ ในปัจจุบันว่า จุดเริ่มต้นจากการรีแบรนด์ของ UBC ซึ่งก่อนหน้านั้นมาจาก UTV ที่รวมตัวกับ IBC ที่ย้อนไปกว่าฃ 30 ปี ทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วทรูวิชั่นส์ อยู่ในเมืองไทยมาอย่างยาวนาน ด้วยการมีคอนเทนต์แบบเอ็กคลูซีฟ ผ่านการให้บริการด้วยเดือยหมู ก่อนเข้าสู่ยุคของจานดาวเทียม และพัฒนามาเป็นเคเบิลผ่าน Fiber Coaxial ที่ใช้งานในปัจจุบัน
“แสดงให้เห็นว่า ‘TrueVisions’ หรือ ‘UBC’ ชนะใจลูกค้าแล้วก็เป็นที่ 1 ในประเทศไทยมาตลอด จากการมีคอนเทนต์ที่ดี มากที่สุด มีความเอ็กซ์คลูซีฟ และมีแพลตฟอร์มที่ดี เราเป็นเจ้าแรกที่ให้บริการคอนเทนต์ความละเอียดสูง (HD) เริ่มการนำกล่องที่มีฮาร์ดดิสก์เข้ามาให้ลูกค้าสามารถบันทึกรายการเพื่อรับชมย้อนหลัง จนถึงเป็นเจ้าแรกที่ให้บริการ 4K”
ถ้าย้อนไปสั้นกว่านั้นในปี 2012 ทรูวิชั่นส์ ก็เริ่มให้บริการแอปฯ อย่าง TrueVisions Anywhere ที่เปิดทางให้ลูกค้ารับชมคอนเทนต์ผ่านสมาร์ทโฟน เพียงแต่เกิดขึ้นก่อนการเปลี่ยนแปลงของตลาด ก่อนการเข้ามาของ iFlix หรือแม้แต่ Netflix ที่ให้บริการในปัจจุบัน ซึ่งยอมรับว่าปัจจุบันฐานลูกค้าของทรูวิชั่นส์ ในประเทศไทยถือเป็นอันดับ 2 รองจาก Netflix
การมาของบริการรับชมคอนเทนต์ผ่านแอปพลิเคชัน มีข้อดีกว่าบริการกล่องทีวี ทั้งเรื่องของการที่ไม่ต้องติดตั้งจาน ไม่ต้องลากสายเคเบิล เป็นบริการผ่าน OTT (Over the top) ที่อาศัยอินเทอร์เน็ต ทำให้บริการสตรีมมิ่งเหล่านี้เข้าถึงลูกค้าได้โดยง่าย ไม่ต้องเสียต้นทุนค่าโครงสร้างพื้นฐาน ไม่นับรวมกับเทคโนโลยีต่างๆ ที่กล่องทีวีในปัจจุบันตามไม่ทันแล้ว
***กล่องยังมี เข้าถึงเพิ่มผ่านแอปฯ
ทำให้ ทรูวิชั่นส์ ก็ต้องปรับตัว อย่างการให้บริการ TrueVisions Now ที่จะกลายมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ True Vision มาตอบโจทย์ลูกค้าในกลุ่มช่วงอายุตั้งแต่ 18 - 40 ปี ที่มีความต้องการอย่างดูที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งการให้บริการผ่านแอปพลิเคชันจะตอบโจทย์ในกลุ่มนี้มากกว่า
“ทรูวิชั่นส์ ถ้าจะไปต่อ ต้องเหมาทั้งกล่อง และ OTT เพราะปัจจุบันกลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไป เขาก็จะบอกว่าอย่าเปลี่ยนเป็นแอปเลย ผมแค่อยากจะกดรีโมทแล้วเปิดเปลี่ยนช่องดูได้ เพราะอะไรพฤติกรรมนี้เขาใช้มา 40 ปีไม่ได้ต้องการเปลี่ยน เมื่อลูกค้ากลุ่มนี้ยังมี แต่อาจจะน้อยและเป็นลูกค้าฐานแบบพรีเมียม เพราะว่าเขาดูทั้งครอบครัว ในขณะเดียวกันอายุ 60 ลงมา ไม่มีใครต้องการดูผ่านกล่องก็เท่ากับว่าทรู มีเทคโนโลยีทั้ง 2 ส่วนในการให้บริการ”
***ประหยัดค่าลิขสิทธิ์ EPL เสริมคอนเทนต์
แน่นอนว่า ความท้าทายสำคัญของทรูวิชั่นส์ หลังจากนี้ คือการที่ไม่มีพรีเมียร์ลีก แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีคอนเทนต์กีฬาประเภทอื่นๆ ที่คนไทยรับชมอยู่ทั้งฟุตบอลลีกอื่นๆ เทนนิส กอล์ฟ บาส วอลเลย์บอล แบดมินตัน F1 หรือแม้แต่ Motor GP ความหลากหลายเหล่านี้ คือสิ่งที่ทำให้ลูกค้าของทรูวิชั่นส์ ยังอยู่
“ในบรรดาบอลทั้งหมด พรีเมียร์ลีกดีที่สุด แต่ก็แพงที่สุด แพงหลายเท่าตัว เพราะงั้น TrueVisions ทำตรงนี้มา 20 กว่าปี เกือบ 30 ปี ทำให้พอรู้ว่าต้นทุนเท่านี้ มีรายได้ประมาณนี้ โอกาสในเชิงธุรกิจประมาณไหน ถ้าเกินกว่าตรงนี้ ซื้อมาก็เป็นภาระ เพราะว่ารายได้ที่ได้จากสมาชิก ได้จากโฆษณามันไม่พอ เราก็เสียดาย แต่ต้องกันว่ามันไปได้อย่างที่คิดว่าไปได้หรือเปล่า”
ขณะเดียวกัน ทิศทางในเรื่องคอนเทนต์ของ ทรูวิชั่นส์ ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จะขยับไปสู่ฐานของบันเทิงมากขึ้น เพราะตลาดของบันเทิงใหญ่กว่าตลาดกีฬา ทำให้เริ่มทำออริจินัลคอนเทนต์มาฉายบนแพลตฟอร์ม และการที่เป็นเจ้าเก่า มีลูกค้า ฐานลูกค้ารู้จักแบรนด์ การที่ประหยัดค่าพรีเมียร์ลีก ก็สามารถนำเงินทุนมาซื้อคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ลูกค้า เพื่อที่จะกลับไปเป็นที่ 1 อีกครั้ง
***เปลี่ยนสู่แอปฯ รวมบริการสตรีมมิ่ง
ทั้งนี้ เมื่อมีการเปลี่ยนมาให้บริการผ่านแอปฯ TrueVisions Now รูปแบบของแพ็กเกจก็จะมีหลากหลายมากขึ้น เริ่มต้นตั้ง 119 บาท (NOW POP) ตามด้วย NOW Plus 249 บาท Now Prime 449 บาท และสุดท้าย Now Max 2,155 บาท ใกล้เคียงกับราคาของทรูวิชั่นส์ แบบ Platinum
เพียงแต่ในการสมัคร NOW Max ผู้ใช้จะได้รับสิทธิ์ในการรับชมแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งทั้ง iQIYI, WeTV, Viu รวมถึง Netflix ด้วย เมื่อหักลบจากค่าใช้จ่ายรายเดือนที่เดิมต้องสมัครใช้บริการ มาจ่ายที่ TrueVision Now ก็จะมีความคุ้มค่ามากกว่า เพราะรับชมได้สูงสุดถึง 6 จอ พร้อมกัน (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริการ) และล็อกอินพร้อมกันได้ 10 อุปกรณ์
อย่างไรก็ตาม ทรูวิชั่นส์ เปิดให้ลูกค้าเดิมกว่า 1.2 ล้านราย สามารถทดลองใช้งานแพ็กเกจของ TrueVisons Now ที่เทียบเท่ากับแพ็กเกจของทรูวิชั่นส์ด้วย เป็นการเปลี่ยนผ่านลูกค้าจากที่ใช้กล่องทีวี ให้สามารถรับชมผ่านสมาร์ททีวีแบรนด์ต่างๆ หรือจะผ่านอุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตก็ได้