Meta จับมือตำรวจไทย ไล่ล่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สอยบัญชีม้า 2 ล้านบัญชี ปิดเกมหลอกลวงออนไลน์ทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 16 พ.ค.68 นายยิ่งยศ ลีชัยอนันต์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะจาก Facebook (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า Meta จับมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เร่งยกระดับความปลอดภัยผู้ใช้ในไทย สกัดภัยฉ้อโกงออนไลน์ผ่านการบูรณาการเทคโนโลยีและความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตรวจจับ-ลบบัญชีหลอกลวง ตลอดจนจำกัดโฆษณาเสี่ยงจากบัญชีใหม่
นายยิ่งยศ กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 2567 ลบบัญชีที่เชื่อมโยงกับขบวนการมิจฉาชีพจากหลายประเทศในภูมิภาค รวมถึงเมียนมา ลาว กัมพูชา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และฟิลิปปินส์ ไปแล้วมากกว่า 2 ล้านบัญชี โดยเน้นจัดการกับองค์กรอาชญากรรมที่ใช้แพลตฟอร์มเป็นเครื่องมือหลอกลวงประชาชน
Meta ใช้กลยุทธ์แบบองค์รวม ทั้งการสกัดผู้ไม่ประสงค์ดี ปกป้องแพลตฟอร์ม และสนับสนุนความร่วมมือข้ามภาคส่วน บริษัทมีบุคลากรด้านความปลอดภัยกว่า 40,000 คนทั่วโลก และลงทุนเทคโนโลยีในด้านนี้ไปแล้วกว่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 10 ปี
ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 Meta ลบบัญชีปลอมไปแล้ว 1,400 ล้านบัญชี โดย 99.9% ถูกลบอัตโนมัติก่อนมีการรายงาน อีกทั้งยังตรวจจับและนำบัญชีที่เกี่ยวข้องกับ Romance Scam ออกไปกว่า 408,000 บัญชี และเพจ-บัญชีที่ใช้หลอกลวงอีกกว่า 116,000 รายการ
Meta ยังได้ออกข้อกำหนดใหม่สำหรับผู้ลงโฆษณารายใหม่ที่ต้องยืนยันหมายเลขโทรศัพท์ก่อนเผยแพร่โฆษณา ลดช่องว่างการถูกใช้เป็นเครื่องมือหลอกลวง
ในด้านการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ Meta ได้ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดอบรมการใช้เครื่องมือปกป้องสิทธิ์แบรนด์แก่ผู้ประกอบการในตลาดทุนและสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 200 ราย และจับมือกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เดินสายโรดโชว์รณรงค์ต้านภัยออนไลน์ใน 32 จังหวัดทั่วประเทศ
อีกหนึ่งแนวรบคือแคมเปญ Legit or Leg It ที่ Meta จัดทำร่วมกับหน่วยงานรัฐและครีเอเตอร์ชาวไทย เน้นให้ความรู้ในการตรวจจับมิจฉาชีพออนไลน์ผ่านคอนเทนต์ในช่องทางดิจิทัล โดยในประเทศไทยมีผู้ชมกว่า 18.3 ล้านครั้ง จากยอดรวม 224 ล้านครั้งทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
"ความปลอดภัยของผู้ใช้งานยังคงเป็นภารกิจหลัก การลงทุนด้านเทคโนโลยีและการทำงานร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในไทยจะยังคงเดินหน้าต่อไป เพื่อสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่ปลอดภัย โปร่งใส และไว้วางใจได้ในระยะยาว" นายยิ่งยศ กล่าว
พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) กล่าวว่า ร่วมกับ Meta รับมืออาชญากรรมออนไลน์ หลังพบมูลค่าความเสียหายในไทยช่วง 1 ม.ค. - 30 เม.ย.68 สูงถึง 7,600 ล้านบาท โดยแผนประทุษกรรมที่มีเหยื่อมากที่สุด คือ การซื้อขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
ความร่วมมือครั้งนี้มุ่งหวังปราบปรามขบวนการหลอกลวงที่มีฐานปฏิบัติการตามแนวชายแดนและพื้นที่บังคับใช้กฎหมายยากลำบาก ซึ่งใช้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายร่วมกับเหยื่อทั่วโลก ตำรวจสอบสวนกลางเดินหน้าสืบสวนและจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลายกลุ่ม พร้อมประสานงานกับหน่วยงานนานาชาติอย่างต่อเนื่อง
Meta เปิดตัวฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยใหม่ เช่น เครื่องมือตรวจจับบัญชีม้า ระบบแจ้งเหตุบัญชีต้องสงสัย และฟีเจอร์ Safer Message Requests ที่จำกัดข้อความจากคนแปลกหน้าเพื่อป้องกันการถูกหลอก พร้อมยกระดับระบบยืนยันตัวตน แจ้งเตือนเข้าสู่ระบบ และ Security Checkup
อีกทั้งยังใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้า ป้องกันไม่ให้ใช้ภาพบุคคลสาธารณะในโฆษณาหลอกลวง และเพิ่มระบบช่วยเหลือผู้ใช้ในการกู้คืนบัญชีหรือจัดการบัญชีปลอม
สำหรับภาคธุรกิจ Meta เปิดเครื่องมือ Brand Rights Protection และระบบแจ้งบัญชีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อช่วยผู้ประกอบการป้องกันการแอบอ้างและการใช้ข้อมูลในทางมิชอบอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายมีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า ประเทศไทยก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ทุกกิจกรรมขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและธุรกรรมออนไลน์ แม้จะช่วยให้การใช้ชีวิตสะดวกขึ้น แต่ก็เปิดช่องให้ภัยออนไลน์และอาชญากรรมทางไซเบอร์เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ETDA เร่งเสริมสร้างความปลอดภัยในการใช้งานดิจิทัล เดินหน้าทำงานเชิงรุกหลายด้าน ทั้งการกำกับดูแลแพลตฟอร์ม การรับและส่งต่อเรื่องร้องเรียน และการสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนรู้เท่าทันปัญหา โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม
ผ่านศูนย์ 1212 ETDA มีการบูรณาการกระบวนการรับแจ้งและจัดการปัญหาออนไลน์อย่างเป็นระบบ พร้อมลงพื้นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ครอบคลุมทุกมิติในกว่า 42 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อยกระดับทักษะดิจิทัลให้คนไทยสามารถใช้งานออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย ไม่ตกเป็นเหยื่อของภัยไซเบอร์
"เชื่อว่า หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันพัฒนามาตรการเชิงรุกต่อเนื่อง จะสามารถลดความสูญเสียของประชาชนจากอาชญากรรมออนไลน์ และสร้างอนาคตดิจิทัลที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นให้กับประเทศไทย" นายมีธรรม กล่าว
น.ส.อาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการปกป้องผู้ลงทุนจากภัยคุกคามในโลกดิจิทัล โดยเฉพาะการหลอกลวงด้านการเงินที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ตามกรอบแผนยุทธศาสตร์ปี 2568-70 ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เอกชน และแพลตฟอร์มดิจิทัล
ภารกิจหลักเน้นสร้างความรู้เท่าทันให้ประชาชน เฝ้าระวังข้อมูลเสี่ยง พัฒนากลไกช่วยเหลือตลาดทุนและสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการคัดกรองภัย เพื่อให้การลงทุนเป็นไปอย่างรอบคอบและปลอดภัยยิ่งขึ้น
"การจับมือกับ Meta ถือเป็นจุดแข็งสำคัญในการสร้างระบบนิเวศออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ โดยทั้งสององค์กรทำงานร่วมกันเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับความมั่นคงทางการเงินของประชาชนในยุคที่ภัยไซเบอร์กลายเป็นเรื่องใกล้ตัว" น.ส.อาชินี กล่าว
พ.ต.ต.ธัญพีรสิษฐ์ จุลพิภพ หรือ สารวัตรแจ๊ะ จากกองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (IDMB) ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ กล่าวว่า ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ถูกเปรียบเทียบว่าเติบโตเร็วราวกับ ธุรกิจเฟรนไชส์ มีเครือข่ายโยงใยซับซ้อนเกินจะแก้ด้วยการจับกุมเพียงไม่กี่ครั้ง ผู้เชี่ยวชาญย้ำชัด ปราบภัยไซเบอร์ต้องมองเป็นสงครามที่ต้องสู้ในทุกมิติ ไม่ใช่แค่การไล่จับ แต่ต้องอาศัยการประสานพลังจากทุกภาคส่วน
"Meta เป็นตัวอย่างของเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยสกัดแก๊งมิจฉาชีพ โดยเฉพาะกรณีกลุ่มหลอกลวงหางานที่ล่อลวงคนไทยไปทำงานในขบวนการคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งสามารถสืบสวนและรื้อเครือข่ายได้สำเร็จ การต่อกรกับอาชญากรรมไซเบอร์ต้องอาศัยการล้อมให้ครบทุกด้าน ตั้งแต่การปราบปราม สืบสวน ไปจนถึงการปิดช่องทางเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง" พ.ต.ต.ธัญพีรสิษฐ์ กล่าว