xs
xsm
sm
md
lg

กฎหมายฟัน! ทรูไม่ร้องเอง พิรงรองมีสิทธิ์นั่งประชุมบอร์ด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กฎหมายฟันธง! 'กสทช.พิรงรอง' ยังร่วมวงพิจารณาทรูได้ ถ้า 'ทรู ดิจิทัล' ไม่ร้องเอง ห้ามประธาน กสทช. หยิบเรื่องขึ้นมาท้วงแทนบริษัทในเครือเด็ดขาด

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสทช. อยู่ระหว่างการพิจารณาประเด็นร้อน กรณีการคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ หลังถูกบริษัทในเครือทรู คอร์ปอเรชั่น ส่งหนังสือทักท้วงไม่ให้เจ้าตัวมีส่วนร่วมในการพิจารณาวาระที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มทรู

ต้นตอของปมความขัดแย้ง เกิดจากคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 6 ก.พ.68 ที่สั่งจำคุก ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา แม้จะได้รับการประกันตัวระหว่างยื่นอุทธรณ์ แต่ยังคงทำหน้าที่ในที่ประชุม กสทช. ตามปกติ

บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จึงได้ยื่นหนังสือถึง ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รวมถึงส่งถึง ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. โดยตรง เพื่อขอให้ถอดตัวออกจากการร่วมพิจารณาระเบียบวาระใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มทรู

ในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 5/2568 (ต่อเนื่อง) เมื่อวันที่ 19 และ 21 ก.พ.68 ที่ผ่านมา ได้มีการหยิบยกหนังสือคัดค้านจากทรูมาหารือ ท่ามกลางความเห็นที่ไม่ตรงกันของกรรมการ กสทช. สุดท้ายที่ประชุมจึงมีมติเสนอนำเรื่องนี้ส่งต่อให้อนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสทช. เป็นผู้พิจารณาว่า ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ยังสามารถทำหน้าที่ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทรูได้หรือไม่

แหล่งข่าวใน กสทช. กล่าวว่า คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสทช. มีมติชี้ชัด กรณีการคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบริษัทในเครือทรู โดยระบุว่า สิทธิในการร้องคัดค้านสามารถทำได้เฉพาะบริษัทที่เป็นผู้เสียหายโดยตรงเท่านั้น ซึ่งในกรณีนี้คือ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ไม่ใช่บริษัทแม่อย่าง ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

มติดังกล่าวยังระบุว่า การร้องคัดค้านจะต้องเป็นกรณีเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคู่กรณี และในกรณีที่ไม่มีการร้องจากคู่กรณี ประธาน กสทช. หรือกรรมการคนใดไม่สามารถหยิบยกเรื่องขึ้นมาพิจารณาเองได้

การประชุมเมื่อวันที่ 1 พ.ค.68 ที่ผ่านมา อนุกรรมการฯ ได้สรุปมติด้วยเสียงข้างมาก แม้ยังมีข้อถกเถียงในประเด็นที่ว่าบอร์ด กสทช. หรือประธาน กสทช. จะสามารถหยิบยกเรื่องขึ้นมาขอให้บอร์ดพิจารณาได้หรือไม่ ทำให้ต้องมีการหารือเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 15 พ.ค.68 ซึ่งผลปรากฏว่า แม้มีกรรมการบางรายขอสงวนสิทธิแสดงความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรแนบเสนอความเห็นส่วนตัว แต่เสียงส่วนใหญ่ยังคงยืนตามมติเดิม

สำนักงาน กสทช. จะเป็นผู้รวบรวมมติดังกล่าวเพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมบอร์ดพิจารณาต่อไป โดยคาดว่ากระบวนการนี้จะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์

ขณะเดียวกัน กรณีที่มีหนังสือร้องเรียนคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา หนึ่งในคณะอนุกรรมการฯ ด้วยเหตุผลเรื่องความเป็นกลางในกรณีควบรวมทรู-ดีแทค ที่ประชุมเห็นว่า เป็นคนละประเด็นและไม่ได้มีการหยิบยกขึ้นพิจารณา ทำให้ นพ.ประวิทย์ ยังสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ ทั้งนี้ หากมีการร้องเรียนจากทรู ดิจิทัล เข้ามาโดยตรงในอนาคต ก็เชื่อว่า ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง จะไม่ร่วมพิจารณาในวาระที่เกี่ยวข้อง หรือจะงดออกเสียงตามหลักจริยธรรมและมารยาททางวิชาชีพ

ทั้งนี้ อนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดย ประธาน กสทช. เมื่อวันที่ 11 มี.ค.67 เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายที่มีชื่อเสียงและมีประสบการณ์สูง ประกอบด้วย

1.ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรมและผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ประธานอนุกรรมการ

2.ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ กรรมการคณะกรรมการกฤษฎีกา อดีตศาสตราจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อนุกรรมการ

3.ศาสตราจารย์พิเศษ เข็มชัย ชุติวงศ์ อดีตอัยการสูงสุด อนุกรรมการ

4.ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตศาสตราจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

5.ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตศาสตราจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน และอดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนุกรรมการ

6.ศาสตราจารย์ ดร.จตุรนต์ ถิระวัฒน์ ราชบัณฑิต ประเภทวิชานิติศาสตร์ สาขาวิชากฎหมายระหว่างประเทศ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ปัจจุบัน เป็นผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนุกรรมการ

7.พล.อ.เชิดชัย อังศุสิงห์ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ อนุกรรมการ

8.พล.ต.ต.ปิยะวัฒน์ บุญยืนอนนต์ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร เพิ่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการทำความตกลงทางกาค้าเสรี สภาผู้แทนราษฎร อนุกรรมการ

9.พ.ต.อ.ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อนุกรรมการ

10.นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการ กสทช. อนุกรรมการ

11.นายวราวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด อนุกรรมการ

12.นายวีรพล ปานะบุตร อดีตรองอัยการสูงสุด อนุกรรมการ

13.นายเพิ่มสิน วิชิตนาค รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ สำนักงานอัยการสูงสุด อนุกรรมการ

14.นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม อนุกรรมการ อนุกรรมการ


กำลังโหลดความคิดเห็น