วงการไอทีกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และคนทำงานสายเทคโนโลยีก็ต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเซลส์ฟอร์ซ (Salesforce) ยักษ์ใหญ่ระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้าหรือ CRM เผยผลการวิจัย “State of IT” ฉบับล่าสุด ว่านักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยเชื่อมั่นว่า Agentic AI หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาแอปพลิเคชัน
เดวิด โมลด์ (David Mould) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี และผู้อำนวยการด้านโซลูชัน Salesforce ประเทศไทย กล่าวว่า Agentic AI จะเปลี่ยนวิธีการทำงานของนักพัฒนาไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยเครื่องมือแบบ Low-code และ No-code ที่ใช้งานง่าย สร้างแอปและ Agent ได้แม้ไม่มีพื้นฐานการเขียนโค้ด ก็สามารถเรียนรู้และใช้งานได้ฟรี
“AI Agent ช่วยเสริมศักยภาพให้นักพัฒนาสร้างแอปพลิเคชัน คำสั่งพรอมต์ และ Agent รวมทั้งการทำงานแบบอัตโนมัติที่มีความน่าเชื่อถือ และระบบแบบอื่นได้อีกมากมาย เมื่อ AI Agent ได้เข้ามาช่วยจัดการงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ จำเจ เช่น การจัดระเบียบข้อมูล การเชื่อมโยงระบบ และการทดสอบในระดับเบื้องต้น นักพัฒนาจะมีอิสระในการปรับเปลี่ยนจุดมุ่งเน้นในการทำงาน จากการทำงานเขียนโค้ดแบบแมนวล ไปสู่การตอบโจทย์ที่มีมูลค่าและความสำคัญสูงให้กับองค์กร รวมถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมระบบ และการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์”
ผลสำรวจพบว่า 69% ของผู้นำด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศไทย มองว่า AI Agent จะกลายเป็น “เครื่องมือสำคัญ” ในการสร้างแอปพลิเคชัน ไม่แพ้เครื่องมือแบบเดิมที่ถูกใช้งานกันมาก่อนหน้านี้ โดยนักพัฒนาชี้ว่า Agentic AI ช่วยลดเวลาการเขียนโค้ดและแก้บั๊ก พร้อมเปิดโอกาสให้ได้ทำงานที่มีผลกระทบเชิงกลยุทธ์มากขึ้น
อีกตัวเลขที่น่าสนใจจากการสำรวจนี้ คือ 85% ของนักพัฒนาทั่วโลก ต่างใช้ Agentic AI ใช้ผ่านเครื่องมือ Low-code และ No-code โดย 74% ของนักพัฒนาไทยบอกว่า เครื่องมือแบบนี้ทำให้การพัฒนา AI เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และ 79% เชื่อว่าจะช่วยขยายการเติบโตของ AI ในประเทศไทยได้อีกมากในอนาคต
การก้าวเข้าสู่ยุค AI Agent อย่างเต็มตัวก็ยังมีความท้าทาย เช่น 82% ของนักพัฒนาไทยเห็นว่าองค์กรยังต้อง “ปรับโครงสร้างพื้นฐาน” ให้ทันสมัย ขณะที่ 87% บอกว่า “ความรู้ด้าน AI” จะกลายเป็นทักษะพื้นฐานของสายงานไอทีในอนาคต แต่ 48% ยังรู้สึกว่าทักษะที่ตัวเองมี ยังไม่เพียงพอสำหรับยุคของ Agentic AI
ใครที่อยู่ในแวดวงนักพัฒนา หรือสนใจใน AI ต้องติดตามกันให้ดี และเตรียมพร้อมสำหรับการทำงานร่วมกับ Agent ที่ฉลาดและขยัน สำหรับข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้รวบรวมจากกลุ่มผู้นำด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยใช้วิธีการสำรวจแบบไม่เปิดเผยตัวตนของทั้งผู้ถามและผู้ตอบแบบสอบถาม (Double-anonymous) การสำรวจได้จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม 2567 ถึง 3 กุมภาพันธ์ 2568 จากกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในด้าน IT ขององค์กร จากประเทศออสเตรเลีย เบลเยียม บราซิล แคนาดา เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย ไอร์แลนด์ อิสราเอล อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ยังมีการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมจากกลุ่มนักพัฒนาที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ใช้หรือลูกค้า (Frontline Developer) เกือบ 250 คนในสหรัฐอเมริกา โดยร่วมกับองค์กรอย่างยูกอฟ (YouGov) ในระหว่างวันที่ 14 ถึง 21 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา.