xs
xsm
sm
md
lg

'AOC 1411' ล่า บ.ต่างชาติ หนุนคอลเซ็นเตอร์ดูดเงินคนไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



'AOC' เปิดศึกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ล่าบริษัทเพื่อนบ้านเอี่ยวดูดเงินคนไทย นัดฟันแบงก์-ค่ายมือถือ ตั้งบอร์ดตัดสินผิดชัด ใครพลาด ใครปล่อย ต้องรับผิด

เมื่อวันที่ 7 พ.ค.68 นายเอกพงษ์ หริ่มเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ศปอท.) หรือ AOC 1441 เปิดเผยว่า หลังพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2568 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 เม.ย.68 และให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่ศูนย์ปฏิบัติการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอท.) ล่าสุด รัฐบาลโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ นายประเสริฐ จันทรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี สั่งการให้ ศปอท. ตรวจสอบรายชื่อบริษัทต่างชาติที่จดทะเบียนถูกต้องในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เมียนมา และกัมพูชา ซึ่งเช่าใช้โครงข่ายโทรคมนาคมจากประเทศไทย ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้บริการแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่

ผลการตรวจสอบจะถูกนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่ จ.สระแก้ว ในเดือน ก.ค.68 เพื่อหามาตรการแก้ไขอย่างเป็นระบบ หลังพบว่าการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมไทยเป็นช่องทางหลักของเครือข่ายมิจฉาชีพข้ามชาติ ขณะเดียวกัน ศปอท. เตรียมประชุมร่วมกับหน่วยงานสำคัญ ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในวันที่ 24 พ.ค.68 เพื่อวางกรอบมาตรการทางกฎหมายร่วมกัน ทั้งเรื่องการป้องกัน ปิดกั้น และระงับการโอนเงินของเครือข่ายคอลเซ็นเตอร์

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะกรรมการตามกฎหมาย เพื่อทำหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องเรียนต่างๆ โดยมีปลัดกระทรวงดีอี เป็นประธานบอร์ด ทำหน้าที่ชี้ขาดว่าความผิดอยู่ที่ใคร และต้องรับผิดตามกฎหมายอย่างไร ภายใต้กรอบที่กำหนดร่วมกันโดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายเอกพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างการจัดทำโครงสร้างหน่วยงานใหม่ พร้อมเพิ่มจำนวนบุคลากรให้เหมาะสมต่อภารกิจ และพัฒนาระบบงานต่างๆ ให้รองรับการแสดงผล สั่งการ วิเคราะห์ ติดตาม และรายงานผลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อยื่นขอรับงบประมาณสำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไป ทั้งนี้ การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ ศปอท. ทำให้การสั่งการและรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็ว แตกต่างจากอดีตที่ทำได้เพียงอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน โดยหน้าที่หลักคือการระงับธุรกรรมทางการเงินของกลุ่มมิจฉาชีพให้เร็วที่สุด ส่วนขั้นตอนการติดตามคืนเงินให้ผู้เสียหายนั้น ยังต้องดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น