ไปรษณีย์ไทย กำไรบวกยับ 227% รับอีคอมเมิร์ซวิ่งฉิว ลุ้นเจอดราม่าภาษีทรัมป์ ป่วนส่งออกสะเทือน เดินเกมรุก 6 ด้าน-ชิงวอลลุ่ม-เร่ง EV-รีไซเคิล-รับมืออนาคตผันผวน
เมื่อวันที่ 6 พ.ค.68 ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2568 ของไปรษณีย์ไทยรับแรงส่งเศรษฐกิจดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซเติบโตต่อเนื่อง ทำรายได้รวม 5,945.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.83% จากช่วงเดียวกันของปี 2567 และมีกำไรสุทธิ 534.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 227.72% โดยรายได้หลักมาจากบริการไปรษณีย์ในประเทศ ซึ่งเติบโต 20.17% และบริการขนส่งและโลจิสติกส์เติบโต 13.15% ขณะที่ปริมาณชิ้นงานรวมเพิ่มขึ้น 7.48% โดยเฉพาะบริการ EMS เพิ่มขึ้น 5.94% จากการพัฒนามาตรฐานบริการและโซลูชันที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจและไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ไปรษณีย์ไทยยังจับตาความเสี่ยงจากนโยบายภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff Policy) ที่อาจกระทบการขนส่งระหว่างประเทศ จึงได้เจรจากับไปรษณีย์สหรัฐฯ เพื่อคงข้อยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้ามูลค่าไม่เกิน 800 ดอลลาร์สหรัฐ (De Minimis Exemption) ต่อชิ้น พร้อมวางกลยุทธ์รองรับความเสี่ยง โดยการสร้างระบบนิเวศสำหรับผู้ประกอบการ SME และธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทย
"ต้องจับตานโยบายภาษีศุลกากรตอบโต้ อย่างใกล้ชิด เพราะไม่มีสิทธิต่อรองกับระบบการค้าระหว่างประเทศที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงทั่วโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน แม้ตัวสินค้าไม่ได้หายไปจากระบบ แต่จะเกิดการเปลี่ยนทิศทางของเส้นทางการค้าอย่างมีนัยสำคัญ ไปรษณีย์ไทยจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับช่วงเวลาของผลกระทบที่ไม่เท่ากันในแต่ละประเทศ พร้อมใช้ต้นทุนการขนส่งที่ได้เปรียบเป็นโอกาสในการรองรับวอลลุ่มสินค้าที่อาจทะลักเข้าประเทศ เพื่อขยายบทบาทในตลาดส่งออก-นำเข้าอย่างมีประสิทธิภาพ ดร.ดนันท์ กล่าว
นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยยังขยายบริการขนส่งระหว่างประเทศให้ครอบคลุม 205 ปลายทางใน 193 ประเทศ รวมถึงพื้นที่ห่างไกลที่ผู้ให้บริการรายอื่นยังเข้าไม่ถึง เช่น หมู่เกาะมาร์แชลล์ กวม และอาร์เจนตินา พร้อมเสริมความร่วมมือกับสหภาพไปรษณีย์สากล และเครือข่าย ASEANPOST เพื่อยกระดับคุณภาพบริการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
"เราไม่แข่งกับใคร เราแข่งกับพฤติกรรมผู้บริโภค ภาพรวมรายได้ไตรมาสแรกยังอยู่ในเกณฑ์ดีตามฤดูกาล แต่ยังไม่ใช่จุดชี้ชะตา ยังคงต้องรอดูสถานการณ์ในไตรมาส 3 ที่จะสะท้อนภาพรวมธุรกิจได้ชัดเจนมากขึ้น ขณะนี้จึงถือเป็นช่วงสะสมแต้มบุญครึ่งปีแรก เก็บไว้เป็นสแปร์รองรับความผันผวนช่วงปลายปี เดินหน้าเติมกลยุทธ์ใหม่ เพื่อเพิ่มวอลลุ่มและชดเชยความไม่แน่นอนที่อาจจะเกินขึ้นในอนาคต" ดร.ดนันท์ กล่าว
ดร.ดนันท์ กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 2–4 ปีนี้ ไปรษณีย์ไทยยังคงเดินหน้ายุทธศาสตร์ 6 ด้าน ได้แก่ 1.ยกระดับบริการ EMS ที่ตอบโจทย์ตลาด B2C และ C2C 2.ขยายบริการขนส่งครอบคลุมสินค้าทุกประเภท เช่น ยา สินค้าเกษตร สินค้าไลฟ์สไตล์ 3.ให้บริการทางการเงินผ่านบทบาท Banking Agent 4.ดำเนินธุรกิจค้าปลีกแบบ Omni-Channel ผ่าน ThailandPostMart และสินค้า House Brand มากกว่า 20,000 รายการ 5.รองรับอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนผ่าน eBay, Amazon FBA และพันธมิตร RAPA ในอาเซียน และ 6.พัฒนา Prompt Post ให้เป็น Information Logistics ด้วยฟีเจอร์ใหม่ เช่น Digital Postbox, Passport Tracking และ Prompt Vote
ขณะเดียวกัน ไปรษณีย์ไทยยังขยายภารกิจของบุรุษไปรษณีย์ผ่าน Postman Cloud ล่าสุดร่วมมือกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ เก็บข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะ ปี 2568 ครอบคลุม 4.17 ล้านครัวเรือน ใน 10 จังหวัด ระหว่างวันที่ 21 เม.ย. – 15 ก.ค.68
ในด้านสิ่งแวดล้อม ไปรษณีย์ไทยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% ภายในปี 2573 และมุ่งสู่ Net Zero ภายในปี 2593 โดยมีแผนใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 9,000 คันภายในปี 2572 และเปลี่ยนรถยนต์นำจ่ายกว่า 1,000 คันทั่วประเทศให้เป็น EV ครบ 100% ภายในปี 2583 พร้อมติดตั้งระบบ Solar PV Rooftop ในที่ทำการไปรษณีย์ 10 แห่งภายในปี 2568 และขยายเป็น 120 แห่งภายในปี 2572
อีกทั้งยังเดินหน้าสนับสนุนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ผ่านโครงการ Green Hub และแคมเปญ reBOX ที่สามารถรวบรวมกล่องและซองพัสดุเก่ากลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิลได้มากกว่า 600 ตัน ภายใน 4 ปี คิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 3,500 ตันคาร์บอนเทียบเท่า พร้อมขยายความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เช่น โครงการ e-Waste กับ AIS โครงการขาเทียมกับกรมควบคุมมลพิษ โครงการวนร่วมกับ TPBI และ GC YOUเทิร์น กับ PTTGC เพื่อแปรรูปขยะพลาสติกเป็นอุปกรณ์ไปรษณีย์และผลิตภัณฑ์เพื่อสังคมต่อไป