จับกระแสเตรียมพร้อมประเทศไทยเข้ายุคปัญญาประดิษฐ์ (AI) เต็มรูปแบบ ล่าสุดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดคอร์สพิเศษพุ่งเป้าสร้าง"ผู้นำองค์กร"ที่มีวิสัยทัศน์และเข้าใจเทคโนโลยี AI ถ่องแท้ จับมือ 3 พันธมิตรยักษ์ใหญ่ AI ฝั่งอเมริกาพร้อม 3 องค์กรเทคเบอร์ใหญ่เมืองไทย เคาะราคา 3 แสนบาทเรียน 3 เดือนพร้อมดูงานที่จีน สอดคล้องนายกรัฐมนตรีประกาศสร้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้าน AI อย่างน้อย 90,000 คนใน 2 ปี
ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเชื่อมั่นในกรณีที่ จุฬาฯ ได้จับมือ 6 พันธมิตร AI ชั้นนำเปิดหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง NEXUS AI ว่าหลักสูตรนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยเข้าสู่ยุค AI อย่างมีทิศทาง และทำให้ไทยก้าวทันประชาคมโลกในยุคเทคโนโลยี
"AI ไม่ใช่แค่เทคโนโลยี แต่เป็นเครื่องมือที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความยั่งยืนในระยะยาว เราเชื่อว่า AI ที่ดีจะต้องอยู่บนพื้นฐานของ "AI for Good" และต้องสร้างประโยชน์อย่างแท้จริงให้กับสังคมไทย
หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง NEXUS AI ถูกริเริ่มขึ้นบนมุมมองว่าผู้นำองค์กรไม่ใช่แค่ต้องเข้าใจการบริหารธุรกิจแบบเดิมอีกต่อไป แต่จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยี AI อย่างลึกซึ้ง เพื่อนำองค์กรและประเทศก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ดังนั้นหลักสูตร NEXUS จึงไม่ได้เน้นแค่การเรียนรู้เทคโนโลยี แต่มุ่งเน้นการ "เชื่อมต่อ" และสร้างเครือข่ายผู้นำระดับสูงด้าน AI ของประเทศไทย ที่มาจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาควิชาการ เพื่อร่วมกันผลักดันการใช้ AI อย่างมีวิสัยทัศน์ มีธรรมาภิบาล และเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม
6 จุดแข็งของหลักสูตร NEXUS AI ประกอบด้วย 1. ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้โดยตรงจาก CEO และผู้เชี่ยวชาญกว่า 30 คน จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ แชร์ประสบการณ์จริงในการใช้ AI ระดับองค์กร 2. เน้น AI Thinking for Leaders ที่ให้พื้นฐานที่ถูกต้องและการประยุกต์ใช้งานที่เป็นไปได้จริง ทำให้ผู้บริหารนำไปต่อยอดสู่แผนกลยุทธ์ได้ทันที
3. มีการศึกษาดูงานที่องค์กรเทคโนโลยีชั้นนำในประเทศ เพื่อได้เห็นการปฏิบัติจริงและเข้าใจระบบนิเวศดิจิทัลที่กำลังเปลี่ยนแปลงประเทศ 4. เวิร์กชอปที่เปิดโอกาสให้ผู้บริหารนำทีมงานมาร่วมอบรม ฝึกวางแผนการนำ AI ไปใช้ในงานสำคัญขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด ฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือแผนกงานระบบอัตโนมัติ
5. ทริปเดินทางไปศึกษาดูงานถึงประเทศจีน เพื่อเรียนรู้จากมหาอำนาจด้าน AI ที่กำลังก้าวล้ำโลกในขณะนี้ และ 6 การสร้างคอนเนคชั่น ที่เชื่อมต่อผู้นำจากทุกภาคส่วน สร้างความร่วมมือที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระดับประเทศได้จริง
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับพันธมิตรระดับชาติและระดับโลกถึง 6 องค์กร ประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA), ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC), Amazon Web Services, Google และ Microsoft
สรุปแล้ว นี่คืออีกความเคลื่อนไหวสำคัญในการยกระดับประเทศไทยสู่ยุค AI อย่างเต็มรูปแบบ โดยปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังตื่นตัวกับแนวคิดริเริ่มสร้างศูนย์ความเป็นเลิศด้าน AI ระดับประเทศ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เช่น ภาคการท่องเที่ยว สุขภาพ หรือการเกษตร และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศในระหว่างเป็นประธานการประชุมครั้งแรกของบอร์ด AI แห่งชาติเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 ว่าจะส่งเสริมให้มีบุคลากรที่สามารถใช้งาน AI (AI User) อย่างน้อย 10 ล้านคน และมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้าน AI (AI Professional) อย่างน้อย 90,000 คน รวมถึงนักพัฒนา AI (AI Developer) อย่างน้อย 50,000 คน ภายในระยะเวลา 2 ปี.