แม้จะได้รับผลกระทบในแง่ความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคในไทย จากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ในเรื่องการติดตั้งแอปฯ พรีโหลดบนสมาร์ทโฟน ทำให้ OPPO ต้องเดินหน้าเรียกความเชื่อมั่นจากผู้ใช้งานในไทย โดยเฉพาะการแสดงความจริงใจในการทำธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้ระยะเวลาในการเรียกคืนความไว้วางใจ
ส่วนหนึ่งที่ OPPO ทำคือการเปิดโรงงานผลิตสมาร์ทโฟนแห่งใหญ่ที่สุดของ OPPO ในเมืองฉงชิ่ง ประเทศจีน ที่ปัจจุบันเป็นฐานการผลิต และศูนย์โลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดของ OPPO ทั่วโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการลงทุนครั้งใหญ่ของ OPPO ด้วยมูลค่ารวม 7.7 พันล้านหยวน บนพื้นที่ 1,524 ไร่ ที่เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2017 และเริ่มเดินสายการผลิตระยะที่หนึ่งในปี 2019 จนถึงปัจจุบันที่กำลังขยายโรงงานอย่างต่อเนื่องในระยะที่สอง เพื่อแสดงถึงมาตรฐานในการผลิตสมาร์ทโฟนระดับโลกออกสู่สาธารณะ
ข้อมูลเบื้องหลังของการออกแบบโรงงานแห่งนี้ คือ OPPO ตั้งใจสร้างสวนเทคโนโลยีระบบนิเวศอัจฉริยะ ที่มีโครงสร้างแบบ "หนึ่งใจกลาง หนึ่งวงแหวน สี่กลุ่ม" ที่สื่อถึงอีโคซิสเตมส์ของผลิตภัณฑ์ OPPO โดยมีอาคารหลักที่รวมสำนักงานและการผลิตไว้ด้วยกัน ล้อมรอบด้วยทางเดินเชิงนิเวศ และหอพักพนักงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้พนักงาน
โรงงานผลิตแห่งนี้ ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ OPPO สามารถขยายการผลิต และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดสมาร์ทโฟน ซึ่งจากข้อมูลในช่วงปลายปีที่ผ่านมา OPPO นับเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอันดับที่ 4 ของโลก และก้าวขึ้นเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนเป็นครั้งแรกในช่วงไตรมาส 3 ปี 2024
ปัจจุบัน OPPO มีศูนย์การผลิตทั้งหมด 9 แห่งทั่วโลก ไล่ตั้งแต่ในเขตฉงชิ่ง ตามด้วยฉางอาน และตงกวน ในประเทศจีน ส่วนในต่างประเทศมีทั้งในอินเดีย มีกำลังการผลิต 8.33 ล้านเครื่องต่อเดือน ตามด้วยอินโดนีเซีย 2 ล้านเครื่อง ส่วนในบังคลาเทศ อียิปต์ ปากีสถาน ตุรกี มีกำลังการผลิตราว 2-5 แสนเครื่องต่อเดือน
โรงงาน OPPO ในฉงชิ่งไม่เพียงเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ แต่ยังเป็นตัวอย่างของโรงงานอัจฉริยะที่นำเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติมาใช้อย่างครอบคลุม เพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงและกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกัน ความสำเร็จของโรงงานแห่งนี้ยังได้รับการยอมรับด้วยรางวัลต่างๆ เช่น โรงงานอัจฉริยะระดับประเทศและโรงงานสีเขียวระดับประเทศ การลงทุนในฉงชิ่งเน้นย้ำถึงกลยุทธ์ของ OPPO ในการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตทั่วโลก และตอบสนองความต้องการของตลาดสมาร์ทโฟนที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
***สายการผลิตมาตรฐานโลก
ในด้านกระบวนการผลิต โรงงานแห่งนี้โดดเด่นด้วยการนำเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติขั้นสูงมาใช้ ตั้งแต่การผลิตแผงวงจรหลัก (PCB) ไปจนถึงการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ในขั้นสุดท้าย ก่อนทยอยขนส่งสู่ตลาดทั่วโลก
ไล่ตั้งแต่สายการผลิต SMT (Surface Mounted Technology) ถือเป็นหัวใจหลักในการผลิตเมนบอร์ดของสมาร์ทโฟน สายการผลิต SMT ที่ฉงชิ่งเริ่มผลิต PCB ตั้งแต่ปี 2019 และสามารถรองรับกำลังการผลิตได้ถึง 5 ล้านแผ่นต่อเดือนในปัจจุบัน
สายการผลิตนี้มีความยาวกว่า 70 เมตร ใช้การออกแบบแบบเส้นเดียวต่อเนื่องเพื่อความไหลลื่นในการผลิต โดยระบบอัตโนมัติของโรงงาน SMT อยู่ที่ประมาณ 90%-95% มีการใช้เครื่องติดตั้งชิ้นส่วนความเร็วสูงที่สามารถติดตั้งชิ้นส่วนขนาดเล็กได้อย่างแม่นยำ
นอกจากนี้ ยังมีเตาอบไนโตรเจนแบบรีโฟลว์สำหรับการบัดกรี และเครื่องตรวจสอบด้วยแสงอัตโนมัติ (AOI) เพื่อตรวจสอบคุณภาพการบัดกรี ระบบอัตโนมัติในสายการผลิต SMT ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดจำนวนแรงงานต่อสายจากเดิม 11 คน เหลือเพียง 6 คน
ตามด่วยการติดตั้งวัสดุเสริม เช่น การจ่ายกาวและติดตั้งวัสดุเพื่อป้องกันน้ำ ป้องกันแรงกระแทก และป้องกันคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ก็ใช้เครื่องจักรอัตโนมัติเพื่อเพิ่มความมั่นใจ มีการนำเครื่องติดตั้งวัสดุเสริมอัตโนมัติและแขนกลคู่มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการรองรับกระบวนการที่ซับซ้อน
สายการประกอบขั้นสุดท้าย (Final Assembly Line) เป็นส่วนที่นำชิ้นส่วนต่างๆ มาประกอบเป็นสมาร์ทโฟนที่สมบูรณ์ สายการผลิตนี้มีระดับความเป็นอัตโนมัติสูงที่สุดของโรงงานฉงชิ่ง และมีระบบแดชบอร์ดดิจิทัลที่แม่นยำ กระบวนการต่างๆ เช่น การติดตั้งหน้าจอ การประกอบแผงวงจรหลัก แบตเตอรี่ และการติดวัสดุเสริม ล้วนใช้เครื่องจักรในการดำเนินการเพื่อลดความผิดพลาดและเพิ่มประสิทธิภาพ ในส่วนของการประกอบกล้อง ซึ่งต้องการความสะอาดสูง จะทำในพื้นที่คลีนบูธเพื่อป้องกันฝุ่น
ต่อด้วยการทดสอบคุณภาพ เป็นขั้นตอนสำคัญเพื่อให้มั่นใจว่าสมาร์ทโฟนทุกเครื่องมีคุณภาพตามมาตรฐาน หลังจากประกอบเสร็จ โทรศัพท์จะเข้าสู่สายการทดสอบอัตโนมัติเพื่อตรวจสอบอย่างน้อย 30 รายการ เช่น ลักษณะภายนอก หน้าจอ กล้อง และ Wi-Fi อุปกรณ์ทดสอบเชื่อมต่อกับระบบดิจิทัลเพื่อป้องกันความผิดพลาดและติดตามข้อมูลแบบเรียลไทม์
การบรรจุภัณฑ์ ในขั้นตอนสุดท้าย ได้นำระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการหลัก เช่น การแปะหมายเลขซีเรียล การแกะกล่อง และการบรรจุสายชาร์จและสายดาต้า นอกจากนี้ ยังมีการใช้รถ AGV อัตโนมัติสำหรับการจัดส่งวัสดุ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการโลจิสติกส์ภายในโรงงาน