บลูบิค มองการเติบโตเศรษฐกิจดิจิทัลในไทย กำลังผลักดันให้ภาครัฐ - ภาคธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับการใช้งานแอปพลิเคชันขนาดใหญ่ (Large Scale Application) รองรับทั้งความต้องการของผู้ใช้งาน ปริมาณการเชื่อมต่อข้อมูลมหาศาล และการทำธุรกรรมจำนวนมากพร้อมกัน
นายปกรณ์ เจียมสกุลทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลในฐานะที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนา Large Scale Application เพื่อให้บริการในประเทศไทย ทั้งการลงทะเบียน Digital Wallet ของทางภาครัฐ รวมถึงการให้บริการแอปพลิเคชันจากบริษัทชั้นนำในไทยว่าLarge Scale Application ไม่ได้วัดเพียงแค่ขนาดของโค้ด แต่พิจารณาจากปัจจัยสำคัญหลายด้าน
โดยแบ่งเป็น 5 ส่วนหลักๆ คือเรื่องของ 1.High Concurrent User: รองรับผู้ใช้งานพร้อมกันในปริมาณมหาศาล เช่น ระบบ Mobile Banking ที่มีผู้ใช้งานหลัก 10 ล้านคน 2.High Transaction Throughput: มีปริมาณการทำธุรกรรม หรือการเรียกใช้งานระบบสูงมากในแต่ละช่วงเวลา
3.Massive Data Volume: มีการส่งผ่าน จัดเก็บ และประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน อาจสูงถึงระดับ Terabytes หรือ Petabytes และ 4.Heavy Integration: มีการเชื่อมต่อและทำงานร่วมกับระบบภายนอกผ่าน API จำนวนมาก
ที่สำคัญคือ 5 Strict Performance, Availability (24/7), and Security ต้องทำงานได้ด้วยประสิทธิภาพสูง พร้อมใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ และมีมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูง เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการโจมตีทางไซเบอร์สูง และหากระบบล่มจะส่งผลกระทบมหาศาล
นายปกรณ์ กล่าวเสริมว่า แอปพลิเคชันเหล่านี้ต้องอาศัยสถาปัตยกรรมแบบกระจาย (Distributed Architecture) เช่น Micro Services ที่รองรับการขยายขนาดในแนวนอน (Horizontal Scalability) โดยเฉพาะเมื่อต้องรับมือกับ Peak Load ที่ไม่สม่ำเสมอ เช่น ระบบลงทะเบียนโครงการต่างๆ
“ตลาดแอปพลิเคชันและดีมานด์ในอุตสาหกรรมไอทีของไทยกำลังเติบโตขึ้นทุกปี จากปัจจัยขับเคลื่อนหลายด้านที่ทำให้ Large Scale Application มีความจำเป็นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงใช้งานของผู้บริโภคที่ 93% ใช้งานมือถือเป็นหลัก ตามด้วยการขยายตัวของ 5G ทำให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทำได้สะดวกขึ้น”
ประกอบกับที่ผ่านมามีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจดิจิทัลจะมีสัดส่วนต่อ GDP เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญคือจาก 6% ในปี 2023 ขึ้นเป็น 11% ภายในปี 2027 แสดงให้เห็นถึงทั้งการลงทุน และการใช้งานดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ไทย มีความก้าวหน้าทางด้านการให้บริการดิจิทัลส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาครัฐมีการสนับสนุนนโยบายส่งเสริมดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันบุคลากรดิจิทัลไทย นับว่ามีทักษะที่สูงกว่าในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังขาดในเรื่องของจำนวนที่ไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม บลูบิค ยังมองว่าในช่วง 1-2 ปี ข้างหน้านี้ 5 อุตสาหกรรมที่จะยังเดินหน้าลงทุนต่อเนื่องในการพัฒนา Large Scale Application เพื่อตอบสนองต่อเทรนด์และความต้องการของตลาด ประกอบด้วย
1.Banking and Financial Services: เป็นอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนสูงสุดอย่างต่อเนื่อง ขับเคลื่อนโดยปริมาณธุรกรรมออนไลน์ที่สูงมากจาก Mobile Banking และ PromptPay รวมถึงการมาของ Virtual Bank ในอนาคตที่ต้องรองรับ Traffic ดิจิทัลมหาศาล
2.Retail / E-commerce: การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการช้อปปิ้งสู่ช่องทางออนไลน์ รวมถึงบริการ Delivery App ต่างๆ ทำให้ธุรกิจต้องลงทุนในแพลตฟอร์ม E-commerce ระบบจัดการข้อมูลลูกค้า (CRM, CDP) และระบบจัดการ Supply Chain และ Inventory ที่ต้องใช้ข้อมูลและ Analytics ขั้นสูง
3.Insurance / Healthcare: ทั้งสองอุตสาหกรรมเป็นแบบ Data Intensive ธุรกิจประกันภัยอาศัยข้อมูลสถิติขนาดใหญ่ในการคำนวณความเสี่ยงและเบี้ยประกัน ขณะที่ Healthcare ต้องจัดการข้อมูลผู้ป่วยจำนวนมหาศาลเพื่อการวินิจฉัย การรักษา และการสร้างระบบ Electronic Healthy Record ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างลงทุนในด้านนี้มากขึ้น
4.Telco: ผู้ให้บริการโทรคมนาคมโดยธรรมชาติมีการจัดการ Transaction ปริมาณมหาศาลอยู่แล้ว และยังลงทุนในแอปพลิเคชันเพื่อให้บริการเสริม (VAS) ที่ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายและข้อมูลลูกค้า
5.Government / Public Sector: ภาครัฐผลักดัน Digital Transformation เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และอำนวยความสะดวกประชาชนผ่านบริการ e-service Portal ต่างๆ รวมถึงการใช้ประโยชน์จาก Data สำหรับการกำหนดนโยบายและการบริหารประเทศ
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจโลจิสติกส์ รวมถึงธุรกิจพลังงาน และการให้บริการสาธารณูปโภค ก็เริ่มมีการลงทุนในระบบที่รองรับข้อมูลมหาศาลจากการใช้งาน IoT มากขึ้น