เยาวชนไทยทำแอปฯ สอนไซเบอร์ซิเคียวริตี้ คว้ารางวัลชนะเลิศ หรือ Distinguished Winner จากประเทศไทย ในโครงการ Swift Student Challenge 2025 ได้โอกาสเป็น 1 ใน 50 เยาวชน เข้าร่วมงาน ประชุมนักพัฒนา WWDC 2025 ที่ Apple Park
อย่างไรก็ตาม Swift Student Challenge 2025 ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นักพัฒนาแอปพลิเคชันรุ่นใหม่จากทั่วโลกได้แสดงความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ผ่านการสร้างแอปบน Swift Playgrounds ด้วยภาษา Swift ในปีนี้ มีเยาวชนไทยที่ได้รางวัลชนะเลิศทั้งหมด 10 คน จาก 350 รางวัลทั่วโลก ซึ่งทั้งหมดจะได้รับประกาศนียบัตรจาก Apple และ AirPods Max ไปครอบครอง
นอกจากจำนวนผู้ชนะที่มากถึง 10 คนแล้ว ยังเป็นปีแรกที่มีผู้ชนะจากสถาบันอาชีวศึกษา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการกระจายตัวของความสามารถด้านการพัฒนาแอปสู่หลากหลายสถาบันการศึกษาในประเทศไทย
โดยในบรรดาผู้ชนะทั้ง 10 คนนี้ มีผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับ Distinguished Winner จำนวน 1 คน คือ 'จุ๊บ พรชนก เพชรอินทร์' นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเธอจะได้รับโอกาสอันพิเศษยิ่งในการเดินทางไปยัง Apple Park ณ เมืองคูเปอร์ติโน รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมสุดพิเศษร่วมกับเยาวชนผู้ชนะเลิศจากทั่วโลกเป็นระยะเวลา 3 วัน
พรชนก เพชรอินทร์ มีความสนใจด้านการเขียนโค้ดจากการเข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย และต่อยอดด้วยการศึกษาภาษา Swift ด้วยตนเองจากแหล่งข้อมูลออนไลน์ จนสามารถพัฒนาแอปพลิเคชันของตนเองได้สำเร็จ
สำหรับผลงานที่ทำให้เธอคว้ารางวัล Distinguished Winner ในปีนี้คือแอปพลิเคชัน "CyberGuardian" ซึ่งเป็นแอปที่ให้ความรู้ด้าน Cyber Security ที่เธอเล็งเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญแต่การเข้าถึงองค์ความรู้อาจมีข้อจำกัด เธอจึงสร้างแอปที่ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้เรื่องดังกล่าวได้ฟรี พร้อมแทรกเกมตอบคำถามเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ที่สนุกและมีประสิทธิภาพ
นอกจากพรชนกแล้ว ยังมีเยาวชนไทยอีก 9 คนที่ได้รับรางวัลผู้ชนะจากโครงการ Swift Student Challenge 2025 ซึ่งแต่ละคนล้วนมีไอเดียและความสามารถที่โดดเด่น อาทิ นายชวภณ เนติสิงหะ จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย กับแอปเกม Systaxia ที่สอดแทรกพื้นฐานการเขียนโค้ด หรือ นางสาวรัสรินทร์ นิธิเจริญอริยะ บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้สร้างเกม Ba.Con เพื่อสอนหลักการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนให้เด็กๆ
ความหลากหลายของผลงานยังรวมถึงแอปพลิเคชันเพื่อสังคมอย่างเกม Money Loop โดยนางสาวสุคนธา ภู่พระอินทร์ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) ที่ช่วยฝึกความจำเพื่อลดความเสี่ยงอัลไซเมอร์ และเกม Mystery Plant โดยนายระพีพัฒน์ ทำดี จากสถาบันเดียวกัน ที่สอนการบริหารทรัพยากร
นอกจากนี้ยังมีแอป HearPiano โดยนายศรุติ์ อาจณรงค์ จากโรงเรียนนาคประสิทธิ์ ที่ช่วยฝึกการฟังเสียงเปียโน, แอป EcoVision โดยนายเทต ออง ไชน จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สำหรับการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์, และแอป HearMeOut โดยนายหลี่ เจิ้น หยี่ ลี จากโรงเรียนวารีเชียงใหม่ ที่ใช้ AR แปลงเสียงพูดเป็นข้อความช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการได้ยิน
ผลงานที่เน้นด้านสิ่งแวดล้อมอย่างแอป microPLASTICS เกมให้ความรู้เรื่องไมโครพลาสติก โดยนายเจษฎา พงศ์ภัณฑารักษ์ จากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และแอป Gate Genius ที่สอนพื้นฐาน Logic Gates อย่างสนุกสนาน โดย นนท์ปวิธ อินต๊ะแก้ว จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเคยได้รับรางวัลในปี 2023 มาแล้ว ล้วนแสดงให้เห็นถึงความสามารถทางเทคนิคและความคิดสร้างสรรค์ในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ
ความสำเร็จของเยาวชนไทยทั้ง 10 คนในโครงการ Swift Student Challenge 2025 นี้ ตอกย้ำถึงศักยภาพและความสามารถของนักพัฒนาแอปรุ่นใหม่ของไทยพร้อมสะท้อนให้เห็นถึงนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ การให้ความสำคัญกับผลกระทบทางสังคม และการส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม