xs
xsm
sm
md
lg

พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ ชี้โจรไซเบอร์เปลี่ยนเป้าป่วน มุ่งขวางธุรกิจสร้างความเสียหายสูงสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ บริษัทด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ เปิดเผยรายงานการสนองตอบต่อเหตุการณ์ภัยไซเบอร์ระดับโลกจาก Unit 42 ประจำปี 2568 พบอาชญากรไซเบอร์พร้อมใจเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ เลิกสนใจแค่การขโมยข้อมูลหรือเรียกค่าไถ่แบบเดิม มาเป็นมุ่งเป้าขัดขวางการดำเนินธุรกิจทั้งหมด เพื่อสร้างความเสียหายสูงสุด

ฟิลิปปา ค็อกส์เวลล์ รองประธานของ Unit 42 ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น กล่าวว่าแนวทางความปลอดภัยทางไซเบอร์แบบเดิมไม่เพียงพออีกต่อไป องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้โซลูชั่นระบบรักษาความปลอดภัยแบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว

"อาชญากรไซเบอร์ที่มุ่งเป้าไปที่องค์กรต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น ไม่ได้เพียงแค่ต้องการขโมยข้อมูลอีกต่อไป แต่ประสงค์ที่จะยับยั้งการดำเนินกิจการทั้งหมด แนวทางความปลอดภัยทางไซเบอร์แบบเดิมจึงไม่เพียงพออีกต่อไปที่จะรับมือกับจุดบอดที่มองไม่เห็นและปัญหาที่ทวีคูณความท้าทายที่องค์กรต่างๆ ต้องเผชิญในวันนี้ ดังนั้นธุรกิจควรเริ่มติดตั้งโซลูชั่นระบบรักษาความปลอดภัยแบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อให้ก้าวนำภัยคุกคามที่นับวันยิ่งอันตรายขึ้น พร้อมรับมือกับอันตราย และให้การปกป้องระบบแบบเรียลไทม์โดยสมบูรณ์"

พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ พบข้อมูลที่น่าตกใจคือเกือบครึ่งหนึ่งของเหตุการณ์ความปลอดภัยทั้งหมด หรือประมาณ 44% มีความเกี่ยวข้องกับเว็บเบราว์เซอร์ ซึ่งกลายเป็นจุดอ่อนหลักในการโจมตีทางไซเบอร์ในปัจจุบัน

และที่น่าวิตกกว่านั้น รายงานยังพบว่าผู้โจมตีสามารถขโมยข้อมูลได้เร็วขึ้นถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยเหตุการณ์โจรกรรมข้อมูลราว 25% เกิดขึ้นภายในเวลาไม่ถึง 5 ชั่วโมง และเกือบ 20% ใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง 


สำหรับประเทศไทย สถานการณ์ยังอยู่ในระดับน่ากังวล โดยศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ ThaiCERT รายงานว่า ประเทศไทยมีเหตุการณ์ภัยไซเบอร์เกิดขึ้นถึง 392 ครั้งในช่วงเพียงสองเดือนแรกของปี 2568 นี้

ที่น่าสนใจคือ ภาคการศึกษาได้รับผลกระทบมากที่สุดถึง 27% ตามมาด้วยหน่วยงานราชการและภาคการเงินที่ 17% เท่ากัน และภาคเอกชนไทย 12%

นอกจากนี้ การสำรวจยังพบว่าภัยจากบุคคลภายในองค์กรเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าในปี 2567 โดยเฉพาะในบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ บริการด้านการเงิน สื่อ และผู้รับเหมาทางการทหาร ขณะที่การฟิชชิงกลับมาเป็นวิธีการโจมตีหลัก คิดเป็น 23% ของการโจมตีทั้งหมด โดยใช้เทคโนโลยี AI มาช่วยทำให้การหลอกลวงซับซ้อนและตรวจจับยากขึ้น

ในส่วนเหตุการณ์ภัยไซเบอร์ พบว่าราว 70% เกี่ยวข้องกับช่องทางการโจมตีอย่างน้อย 3 ช่องทาง แสดงให้เห็นว่าแฮกเกอร์ใช้วิธีการหลายรูปแบบในการบุกรุก

นายปิยะ จิตต์นิมิตร ผู้จัดการประจำประเทศไทยของพาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ แนะนำให้องค์กรในประเทศไทยนำหลักการซีโรทรัสต์มาใช้ และผนวกเทคโนโลยี AI เพื่อปกป้องโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สำคัญของประเทศ

"การเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ของอาชญากรไซเบอร์อย่างรวดเร็วสะท้อนถึงความจำเป็นอันเร่งด่วนที่องค์กรต่างๆ ในไทยจะต้องยกระดับความแข็งแกร่งด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ คนร้ายยุคปัจจุบันยกระดับจากการเรียกค่าไถ่และกรรโชกทรัพย์ปกติมาเป็นการโจมตีที่ตั้งใจออกแบบมาเพื่อขัดขวางการดำเนินกิจการ องค์กรจึงควรนำหลักการซีโรทรัสต์มาใช้ และผนวกความสามารถของระบบรักษาความปลอดภัยที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อช่วยรับมือกับภัยคุกคามที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยรายงานการรับมือเหตุการณ์ภัยไซเบอร์ระดับโลกจาก Unit 42 ประจำปี 2568 ฉบับนี้ เน้นย้ำถึงความสำคัญของกลยุทธ์การป้องกันเชิงรุกเพื่อปกป้องโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยให้ปลอดภัย".


กำลังโหลดความคิดเห็น