ถึงเวลารัฐไทยเลิกโลกสวย ประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ปิดเกมบัญชีม้า ล้างซิมเถื่อน อุดช่องโหว่ระบบธนาคาร และดึงแพลตฟอร์มออนไลน์เข้าสู่กรอบกฎหมาย เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 13 เม.ย. 68 ที่ผ่านมา
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ภายใต้การบัญชาการของ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ไม่ปล่อยให้กฎหมายนี้กลายเป็นของตกแต่งตั้งโชว์บนหิ้ง ทันทีที่กฎหมายผ่านก็เปิดโต๊ะถกเครียด กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) และแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อเคลียร์แนวทางปฏิบัติแบบเจาะลึก พร้อมออกประกาศลูก พ.ร.ก. บีบให้ทุกฝ่ายขยับจริงจัง
***เงินเข้า-ออกแปลก โดนจ้องจับผิด
สิ่งที่เคยง่าย จะไม่ง่ายอีกต่อไป นายประเสริฐ เล่าว่า การเปิดบัญชีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือบริษัท จะต้องตรวจสอบแหล่งที่มา สถานที่ตั้งจริง และเหตุผลในการเปิดบัญชีอย่างละเอียด ถ้าใครสะสมบัญชีเป็นคอลเลกชัน ต้องอธิบายให้ชัด ส่วนบัญชีเก่า หากพบพฤติกรรมผิดปกติ เช่น เงินเข้าออกแปลกๆ หรือโอนเงินแบบไร้ที่มา ไม่มีปลายทางแน่นอน เตรียมโดนตรวจสอบเข้ม
หนึ่งในไฮไลท์ของ พ.ร.ก. คือการยกระดับศูนย์ปฏิบัติการ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) จากเดิมที่เป็นเพียงเงา ให้กลายเป็นศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ศปอท.) อย่างเต็มรูปแบบ มีอำนาจตามกฎหมาย ตรวจพบความผิดปกติเมื่อไร สามารถเข้าถึงข้อมูลบัญชี รายการโทรเข้า-ออก ธุรกรรมการเงิน และแม้แต่กระเป๋าคริปโตได้ทันที ไม่ต้องรอขั้นตอนราชการให้ยืดยาดอีกต่อไป
***โทษหนักปลุกระบบเน่า เขย่าทุกภาคส่วน
ไม่หมดแค่นั้น กระทรวงดีอี ยังเดินหน้าปั้นระบบข้อมูลกลาง ร่วมกับธนาคาร เพื่อให้สามารถตรวจสอบบัญชีข้ามธนาคารแบบเรียลไทม์ ปิดจุดอ่อนของบัญชีม้าที่ชอบย้ายเงินข้ามธนาคารอย่างรวดเร็ว โดยประสานงานกับ ธปท. และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งในอนาคต แพลตฟอร์มออนไลน์ และดิจิทัลแบงก์กิ้ง จะต้องเข้าร่วมระบบนี้ด้วย ถ้าใครเมินมาตรฐาน หรือปล่อยให้แพลตฟอร์มถูกใช้นำมาหลอกประชาชน ศาลจะเป็นผู้ชี้ขาดว่า ใครต้องร่วมจ่ายค่าเสียหาย
แปลว่า ไม่ใช่แค่รัฐที่ต้องขยับ เอกชนก็ถูกบังคับให้เปลี่ยน หากประชาชนได้รับความเสียหายจากความบกพร่องของระบบ หรือจากการนิ่งเฉย ไม่ทำอะไรเลย ก็จะเจอกับบทลงโทษ ที่ออกแบบมาเขย่าระบบให้ตื่น พร้อมกระทบประชาชนใน 5 มิติสำคัญ ได้แก่ 1.ปิดประตูมิจฉาชีพ กำจัดซิมผี บัญชีม้า SMS และลิงก์ปลอมให้หมด 2.ผนึกกำลังทุกหน่วย เชื่อมข้อมูลระหว่าง AOC 1441, ธนาคาร, ตำรวจ, ปปง., สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และโอเปอเรเตอร์ 3.ลงโทษจริงจัง ให้ถึงตัว ไม่ใช่แค่คนรับจ้างเปิดบัญชี แต่รวมถึงแบงก์ แพลตฟอร์ม และโอเปอเรเตอร์ที่ไม่ทำตามมาตรฐาน 4.ปิดช่องโหว่ หยุดความเสียหาย ใครมีส่วนผิดต้องควักจ่าย และ 5.เยียวยาเหยื่อ ให้ ปปง. เป็นหัวเรือหลัก ในการนำเงินคืนให้เหยื่อโดยเร็วที่สุด
***เชื่อมโยงข้อมูล ไล่บี้เบ็ดเสร็จ
ในร่าง พ.ร.ก. ยังระบุนิยามใหม่ของคำว่า “ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” ให้ครอบคลุมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น “กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล” หรือ “บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์” และเพิ่มบทบาทของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้เป็นผู้กำกับดูแลโดยตรง ขณะที่ ศปอท. ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานข้อมูล
ในทางปฏิบัติ โอเปอเรเตอร์ต้องคัดกรอง SMS อันตราย ตามมาตรฐานของ กสทช. ส่วนการลงทะเบียนซิมแบบมั่วซั่ว ข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ว่าฝ่ายใด ก็มีสิทธิโดนฟันไม่เลี้ยง สำหรับแพลตฟอร์มที่ให้บริการคนไทย แต่ไปตั้งอยู่ต่างประเทศ ก็ไม่ได้รอด ต้องขออนุญาตจากรัฐไทยก่อน ไม่งั้นมีสิทธิ์โดนไล่ล่าดำเนินคดีเหมือนตั้งบริษัทอยู่ในประเทศ
ทีเด็ดคือบทลงโทษ ถ้าสถาบันการเงินหรือแพลตฟอร์มละเมิดกฎหมาย จะถูกปรับ 5 เท่าของโทษพื้นฐาน และหากเป็นตัวแทนนิติบุคคลที่ทำผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ใครนำข้อมูลคนตายไปเปิดบัญชีหรือทำธุรกรรมออนไลน์ ผิดแบบไม่มีข้อแก้ตัว โดนโทษเพิ่มอีกหลายเท่าตัว และถ้าไม่มีใครมาแสดงความเป็นเจ้าของเงินภายใน 10 ปี เงินที่เหลือจากการเยียวยาจะตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน แต่ถ้าเจ้าของกลับมาในภายหลังก็สามารถขอเงินคืนได้
อย่างไรก็ตาม กฎหมายอาจดูแข็งแรงบนกระดาษ แต่ผลลัพธ์จริงต้องวัดกันที่การลงมือ ความเอาจริงของเจ้าหน้าที่ และแรงต้านจากระบบที่เคยชินกับการปล่อยผ่าน ตามกันต่อว่า เราจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลง หรือแค่เปลี่ยนชื่อคนโดนหลอก