xs
xsm
sm
md
lg

'ดีอี' ปล่อย DE-fence platform เริ่มใช้ 1 พ.ค.68

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์! 'กระทรวงดีอี' ปล่อย DE-fence platform คัดเบอร์โจร สแกน SMS ลวง เริ่มใช้ 1 พ.ค.68 หวังหยุดเสียหายหมื่นล้านก่อนประชาชนหมดตัว

เมื่อวันที่ 25 เม.ย.68 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอี ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีก 16 แห่ง ลงนามความร่วมมือพัฒนา "DE-fence platform" แพลตฟอร์มแจ้งเตือน-กรองเบอร์มิจฉาชีพ ป้องกันการโทรและส่ง SMS หลอกลวงจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เริ่มเปิดทดลองใช้งานวันที่ 1 พ.ค.68

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือครั้งนี้เกิดขึ้นหลังสถิติรับแจ้งความคดีออนไลน์จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระหว่าง 1 ต.ค.66 - 31 มี.ค.68 พบคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีพุ่งกว่า 519,000 คดี มูลค่าความเสียหายทะลุ 50,700 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการโทรและส่ง SMS หลอกลวงจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ยังระบาดหนัก และพัฒนาเทคนิคหลอกลวงอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีใหม่

สำหรับ DE-fence platform ถูกพัฒนาเป็นเครื่องมือแจ้งเตือนประชาชน ช่วยคัดกรองเบอร์โทร-ข้อความจากคนร้าย ยืนยันเบอร์ที่มาจากหน่วยงานสำคัญ เช่น ตำรวจหรือธนาคารได้แบบเรียลไทม์ เป็นระบบที่ออกแบบให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐในการปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์และลดความเดือดร้อนของประชาชน

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการป้องกันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายใหม่ 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชกำหนด (พ.ร.ก) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ฉบับปี 2568 โดยเฉพาะการลงทะเบียนผู้ให้บริการส่ง SMS พร้อมแนบลิงก์ ซึ่งต้องระบุทั้งเนื้อหาและลิงก์อย่างชัดเจน ให้ผู้ให้บริการเครือข่ายตรวจสอบก่อนส่งถึงผู้ใช้งาน

นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทรู ร่วมสนับสนุนการพัฒนา "DE-fence platform" โดยมีบทบาทร่วมออกแบบและให้ข้อเสนอในการพัฒนาฟังก์ชันของแอปพลิเคชัน เพื่อเสริมเกราะป้องกันภัยไซเบอร์ให้กับประชาชนทั่วประเทศ ยืนยันพันธกิจในการสร้างสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัย ยั่งยืน และครอบคลุม โดยดำเนินการปกป้องคนไทยจากภัยไซเบอร์มาอย่างต่อเนื่องผ่านบริการ True CyberSafe ซึ่งให้ความคุ้มครองกับลูกค้าทรู ดีแทค และทรูออนไลน์

นอกจากการให้บริการในเชิงเทคนิค ทรูยังทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนแบบบูรณาการ เพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการต่อสู้กับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะในยุคที่มิจฉาชีพพัฒนาเทคนิคหลอกลวงอย่างรวดเร็วและซับซ้อน พร้อมสนับสนุนทุกภารกิจและทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมสร้างสังคมที่แข็งแรง และผลักดันการจัดการภัยไซเบอร์ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด








กำลังโหลดความคิดเห็น