เรียกเสียงฮือฮาไปทั่ววงการการศึกษาและโลกสตาร์ทอัป สำหรับเรื่องราวของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่ถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยเพราะสร้าง "เครื่องมือช่วยโกงด้วย AI"
แต่เรื่องราวไม่ได้จบแค่นี้ เพราะเด็กหนุ่มวัย 21 ปีรายนี้ระดมทุนได้ถึง 5.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อพัฒนาธุรกิจตัวนี้ต่อ
ชื่อของหนุ่มสมองใสรายนี้คือ ชุงอิน "รอย" ลี (Chungin "Roy" Lee) ผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพชื่อว่า “คลูลี" (Cluely) ซึ่งเริ่มจากเครื่องมือที่ช่วยตอบคำถามแบบเรียลไทม์ระหว่างการสัมภาษณ์งาน โดยแสดงคำตอบจาก AI ผ่านหน้าต่างลับ ๆ โดยมีสโลแกนสุดแรงว่า “cheat on everything" หรือ "โกงได้ทุกอย่าง”
***Cluely คือเครื่องมือ หรือคืออาวุธ?
ถูกยกให้เป็นแอปพลิเคชันที่ "มาแรงที่สุดและอื้อฉาวที่สุด" ในวงการ AI ตอนนี้ นั่นคือ Cluely ซึ่งเป็นแอปช่วย "โกง" การสนทนาแบบเรียลไทม์ ที่กลายเป็นไวรัลเพียงไม่กี่วันหลังเปิดตัว ล่าสุดผู้สร้าง Cluely กลายเป็นอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยโคลัมเบียเรียบร้อย เพราะถูกระงับการเรียนจากการสร้างเครื่องมือนี้ขึ้นมา และโพสต์เนื้อหาจากการพิจารณาทางวินัยลงออนไลน์
แต่แทนที่จะหยุด หนุ่มน้อยตัดสินใจเปลี่ยนวิกฤตเป็นทุน จนระดมเงินได้ 5.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และตอนนี้มีผู้ใช้งานแล้วกว่า 70,000 คนภายในไม่กี่วันหลังเปิดตัว
ถามว่า Cluely ทำงานอย่างไร? คำตอบคือการเป็น AI ที่สแกนหน้าจอ ฟังเสียง และเสนอคำตอบแบบเรียลไทม์ ทั้งในสัมภาษณ์งาน การออกเดต หรือแม้แต่การประชุม Zoom ผู้ใช้จะรู้สึกเหมือนมี "ผู้ช่วยลับ" ที่คอยกระซิบบอกว่าควรตอบอะไรดี โดยอีกฝ่ายไม่รู้ตัว
***ตอบดีน่าเชื่อถือ
จากการที่นักข่าวจาก Business Insider ทดลองใช้งาน Cluely เวอร์ชันโปร ($20 ต่อเดือน) ในการสัมภาษณ์งานจำลอง และผลลัพธ์พบว่าคำตอบหลายครั้งดีและน่าเชื่อถือ แต่บางครั้งก็ “เพ้อเจ้อ” เช่นบอกว่าผู้ใช้พูดภาษามลายูได้ ทั้งที่ไม่เคยระบุไว้ นอกจากนี้ยังมีดีเลย์ล่าช้า 5-10 วินาที ซึ่งถือว่านานเกินไปสำหรับการสนทนาจริง
ที่สำคัญคือประเด็นความปลอดภัย เพราะแอปสามารถอ่านทุกอย่างบนหน้าจอ
แม้ Lee จะยืนยันว่า Cluely ไม่เก็บข้อมูล และมีการอัปเกรดเซิร์ฟเวอร์ให้เร็วขึ้น 3 เท่าแล้ว แต่ก็ยอมรับว่ายังอยู่ในสถานะที่ "ดิบมาก" (raw) และปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือ Hallucination หรือการที่ AI ตอบผิดเพราะคิดเองจากข้อมูลไม่ครบ
อย่างไรก็ตาม Cluely ที่อาจเป็นสุดยอดนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนทุกวงการ นี้อาจแปลงร่างเป็นภัยเงียบที่จะทำลายความน่าเชื่อถือของโลกดิจิทัลได้ โดยเฉพาะในอนาคตที่คนส่วนใหญ่ "มี AI กระซิบในหู" ย่อมเป็นผลเสียกับสังคม เพราะ “ตัวจริง” หรือบุคคลที่มีความสามารถจริงในห้องสัมภาษณ์นั้นกลายเป็นบุคคลที่ไม่มีความหมายไป.