xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.ให้ไทยคมฮุบดาวเทียม 2 วงโคจร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสทช.ไฟเขียว 'ไทยคม' ฮุบดาวเทียมวงโคจร 51 และ 142 องศาตะวันออก หลังประมูลล่มซ้ำซาก หวั่น ITU ริบสิทธิ โยนสูตรใหม่แลกผลตอบแทนรัฐแค่ 0.25%

รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรคมนาคม ที่ประชุม กสทช. มีมติให้บริษัทในเครือไทยคมได้สิทธิวงโคจรดาวเทียมตำแหน่ง 51 และ 142 องศาตะวันออก หลังจากการประชุม เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2568 โดยบริษัท ทีซี 51 จำกัด ได้สิทธิวงโคจร 51 องศาตะวันออก ส่วนบริษัท ทีซี 42 จำกัด ได้วงโคจร 142 องศาตะวันออก ทั้งสองบริษัทเสนอผลตอบแทนให้รัฐที่ 0.25% ของรายได้

ก่อนหน้านี้ บริษัท ทีซี สเปซ คอนเน็ค จำกัด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริษัทลูกของไทยคม ก็เคยยื่นขอวงโคจรทั้ง 50.5, 51 และ 142 องศาตะวันออก แต่ไม่ได้ยื่นหลักประกันสำหรับตำแหน่ง 51 และ 142 องศา โดยระบุว่า จะให้บริษัทใหม่เป็นผู้ดำเนินการแทน กสทช.จึงตัดสินใจไม่รับข้อเสนอนี้ เพราะยังไม่มีประกาศรองรับการโอนสิทธิดาวเทียมให้บริษัทอื่นเหมือนในกรณีคลื่นมือถือ

วงโคจร 51 องศาตะวันออกยังอยู่ในขั้นต้น โดยกำหนดสิ้นสุดการจองกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) คือวันที่ 25 เม.ย.2573 ขณะที่วงโคจร 142 องศาตะวันออกมีทั้งสถานะขั้นต้นและสมบูรณ์ และจะหมดสิทธิการจองในวันที่ 19 ม.ค.2572

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2567 ที่ประชุม กสทช. วาระพิเศษมีมติเห็นชอบให้ ทีซี สเปซ คอนเน็ค ใช้งานดาวเทียมที่ตำแหน่ง 50.5 องศาตะวันออก โดยเสนอผลตอบแทนรัฐเท่ากันที่ 0.25% ของรายได้ และไทยคมได้นำดาวเทียมไทยคม 9A เข้าประจำตำแหน่งดังกล่าวได้สำเร็จในวันที่ 22 พ.ย.2567 ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนในการรักษาสิทธิวงโคจรให้กับประเทศไทย ก่อนจะหมดอายุการใช้งานในวันที่ 27 พ.ย.2567

ต้นทางของเรื่องนี้เริ่มจากการประมูลวงโคจรดาวเทียมครั้งประวัติศาสตร์เมื่อ 15 ม.ค.2566 ภายหลังสิ้นสุดสัมปทานดาวเทียมของไทยคมที่ดำเนินมายาวนานกว่า 25 ปี กสทช. เปิดประมูลวงโคจร 5 ชุด ได้แก่ 50.5-51, 78.5, 119.5-120, 126 และ 142 องศาตะวันออก ใช้เวลาประมูล 1 ชั่วโมง 36 นาที มีผู้ชนะเพียง 3 ชุด สร้างรายได้ให้รัฐ 806 ล้านบาท

ในผลการประมูล ชุดที่ 1 ไม่มีผู้ยื่นเสนอ ชุดที่ 2 และ 3 ผู้ชนะคือบริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด บริษัทลูกของไทยคม เสนอราคาที่ 380,017,850 และ 417,408,600 บาท ตามลำดับ ส่วนชุดที่ 4 บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ชนะด้วยราคา 9,076,200 บาท ส่วนชุดที่ 5 ไม่มีผู้สนใจ

เมื่อการประมูลรอบแรกขายไม่หมด กสทช. พยายามเปิดประมูลรอบสองด้วยการลดราคาตั้งต้น แต่ก็ไม่มีเอกชนรายใดยื่นเสนอ ทำให้การประมูลล่มอีกครั้ง ในขณะที่ ITU ระบุชัดว่า วงโคจรที่ไม่มีการใช้งานจะถูกริบคืน

เพื่อไม่ให้ไทยเสียสิทธิวงโคจร กสทช. จึงเปลี่ยนแนวทางจากการประมูลแบบเคาะราคา มาเป็นการเสนอผลตอบแทนและสิทธิประโยชน์แทน ล่าสุดเมื่อ 7 ต.ค.2567 กสทช.เปิดรับเอกชนยื่นขอใบอนุญาตใช้งานตำแหน่ง 50.5, 51 และ 142 องศาตะวันออก มีเพียงกลุ่มไทยคมที่ยื่นข้อเสนอครบทั้ง 3 ตำแหน่ง ก่อนที่บอร์ด กสทช. จะมีมติอนุญาตในวันที่ 24 เม.ย.2568 ที่ผ่านมา ให้ไทยคมเดินหน้าภารกิจครั้งใหญ่นี้อย่างเป็นทางการ


กำลังโหลดความคิดเห็น