เปิดประเด็นร้อนแรงในวงการธุรกิจเทคโนโลยี เมื่อการถอนตัวของฟู้ดแพนด้า (foodpanda) จากตลาดฟู้ดเดลิเวอรีในประเทศไทย มีโอกาสนำไปสู่ปรากฏการณ์ที่หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับคำนี้ นั่นคือ "ดูโอโพลี" (Duopoly) หรือการผูกขาดโดยผู้เล่นเพียง 2 ราย
ตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า "Duopoly" คืออะไร? หากอธิบายอย่างง่าย Duopoly ก็คือโครงสร้างตลาดที่มีผู้เล่นหลักเพียง 2 รายที่มีอำนาจและส่วนแบ่งในตลาดสูงมาก มีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางของตลาดนั้นๆ ซึ่งต่างจากการผูกขาดแบบ Monopoly ที่มีผู้เล่นเพียงรายเดียว
ยกตัวอย่างในระดับโลก เราจะเห็น Duopoly ในหลายอุตสาหกรรม เช่น บริษัทผลิตเครื่องบินอย่าง Boeing และ Airbus หรือในวงการบัตรเครดิตที่มี Visa และ Mastercard เป็นผู้เล่นหลัก
***ตลาดเดลิเวอรีไทยเข้ายุค Duopoly?
23 เม.ย. 68 คือวันที่ foodpanda Thailand ได้ประกาศ ยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน foodpanda มีผลตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2568 โดยระบุว่าบริษัทภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ขับเคลื่อนธุรกิจร่วมจัดส่งความสุข ผ่านทุกๆ ออเดอร์ให้แก่ลูกค้าทุกคนในประเทศไทย แต่เนื่องจากสภาพตลาดในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับกลยุทธ์ระยะยาวของ foodpanda อีกต่อไป จึงมีความเสียใจอย่างยิ่งที่การเดินทางของ foodpanda ต้องสิ้นสุดลง
การที่ foodpanda ประกาศโบกมือลาตลาดเดลิเวอรีไทย ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกให้กับทั้งผู้บริโภค ร้านค้า และกลุ่มไรเดอร์ โดยความเคลื่อนไหวล่าสุด "ยอด ชินสุภัคกุล" ซีอีโอของ LINE MAN Wongnai ได้ออกมาให้ความเห็นว่า การถอนตัวของ foodpanda ทำให้อุตสาหกรรมฟู้ดเดลิเวอรีของไทยเข้าสู่สภาวะ Duopoly อย่างเต็มตัว
จากข้อมูลของ Redseer ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 บริการ LINE MAN นั้นครองส่วนแบ่งตลาดฟู้ดเดลิเวอรีไทยสูงถึง 44% ขณะที่ Foodpanda มีส่วนแบ่งเพียงแค่ 5% เท่านั้น เมื่อ foodpanda ถอนตัวออกไป ตลาดนี้จึงส่งสัญญาณเหลือผู้เล่นหลักเพียง 2 ราย ทำให้เกิดสภาวะการแข่งขันที่เข้าข่าย Duopoly อย่างชัดเจน
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของตลาด จากที่เคยเป็น "สงครามราคา" ที่ผู้ให้บริการแต่ละรายพยายามตัดราคากันเพื่อแย่งชิงลูกค้า กำลังจะเปลี่ยนไปเป็น "สงครามคุณภาพ" แทน โดยผู้เล่นที่เหลือจะหันมาเน้นพัฒนาคุณภาพบริการและบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับผู้บริโภคทั่วไป คาดว่าจะได้รับผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เพราะตัวเลือกบริการยังคงมีให้เลือกใช้ทั่วประเทศ โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ ไรเดอร์และร้านค้าที่เคยอยู่ในระบบของ foodpanda ซึ่งจำเป็นต้องย้ายแพลตฟอร์ม
ในส่วนนี้ LINE MAN Wongnai ได้เตรียมมาตรการรองรับอย่างรวดเร็ว โดยเปิดช่องทางให้ไรเดอร์สามารถเข้ามาสมัครเป็นพาร์ทเนอร์ได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ foodpanda เคยให้บริการ เพื่อลดผลกระทบจากการว่างงาน
สำหรับร้านค้า ทาง LINE MAN ก็ได้เปิดช่องทางพิเศษให้ร้านที่เคยอยู่บน foodpanda สามารถเข้าร่วมขายบนแพลตฟอร์มได้ทันทีผ่านเว็บไซต์ พร้อมเงื่อนไขพิเศษเพื่อให้ร้านค้าปรับตัวได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ LINE MAN ยังได้เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่อย่างการแปลภาษาอัตโนมัติแบบเต็มรูปแบบ เพื่อรองรับลูกค้าต่างชาติให้สั่งอาหารได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ จันต์สุดา ธนานิตยะอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เผยว่า ตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา ตลาดฟู้ดเดลิเวอรีในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคและบริบททางการแข่งขันที่เปลี่ยนไป ซึ่งแกร็บมองว่ามีทั้งโอกาสและความท้าทายที่มาควบคู่กันเสมอ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงของผู้เล่นในตลาดอยู่เป็นระยะ
ในแง่ของโมเดลธุรกิจ ฟู้ดเดลิเวอรีถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ต้องเผชิญกับความท้าทายมาทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะในแง่ของการสร้าง “สมดุล” ให้เกิดขึ้นในวงจรธุรกิจ เพราะในอีโคซิสเต็มของบริการฟู้ดเดลิเวอรีนี้มีทั้งลูกค้า คนขับ ผู้ประกอบการร้านอาหาร รวมถึงแพลตฟอร์ม การบริหารธุรกิจให้ทุกฝ่ายพึงพอใจและได้รับประโยชน์ร่วมกันมากที่สุดถือเป็นเป้าหมายสำคัญที่แพลตฟอร์มต้องเรียนรู้และปรับกลยุทธ์กันตลอดเวลา
ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นตอกย้ำว่ากลยุทธ์ที่แกร็บได้ปรับและดำเนินการมาในช่วง 2-3 ปีหลังนั้นมาถูกทางแล้ว โดยมุ่งเน้นสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่าง “ยั่งยืน” โดยให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลในวงจรธุรกิจเป็นอันดับแรก ซึ่งสะท้อนผ่านผลประกอบการที่แข็งแกร่ง เพราะเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวที่สามารถทำกำไรต่อเนื่องมาเป็นปีที่สอง และสามารถครองความนิยมอันดับหนึ่งด้วยส่วนแบ่งตลาดของ GrabFood ที่มีถึง 46 % (อ้างอิงจากรายงานของ Momentum Works)
แน่นอนว่าการเข้าใจความเคลื่อนไหวของตลาดและคู่แข่งถือเป็นพื้นฐานในการทำธุรกิจ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือการไม่หลุดจากวิสัยทัศน์และ “เป้าหมาย” (Purpose) อันเป็นแก่นสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ซึ่งสำหรับแกร็บ เราไม่เคยหยุดมุ่งมั่นพัฒนาแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสให้กับผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่อง
***ระยะยาว หัวหรือก้อย?
คำถามสำคัญที่หลายคนอาจสงสัยก็คือ สภาวะ Duopoly นี้จะส่งผลดีหรือผลเสียต่อผู้บริโภคในระยะยาวอย่างไร และการแข่งขันที่เข้มข้นระหว่างผู้เล่นหลัก 2 รายจะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่หรือไม่ หรืออาจนำไปสู่การร่วมมือกันกำหนดราคาและเงื่อนไขที่อาจไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค?
ประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องติดตามกันต่อไป เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ Duopoly อื่น ๆ ในวงการเทคโนโลยีที่ต้องมีการศึกษาและวิเคราะห์ถึงผลกระทบในหลายด้าน
อีกตัวอย่างที่สำคัญคือกรณีของ Apple และ Google ซึ่งรายงานในปี 2567 ระบุว่าสหราชอาณาจักรกำลังหาทางใช้มาตรการใหม่ ในการสอบสวนการผูกขาดระบบเบราว์เซอร์เรียกดูเว็บไซต์บนอุปกรณ์มือถือระหว่าง Apple และ Google ซึ่งจะต้องมีการวิเคราะห์ถึงอนาคตของตลาด รวมถึงข้อดีข้อเสียที่จะเกิดขึ้นกับทั้งผู้บริโภคและอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบ
ดังนั้น ประเทศไทยเองก็ควรศึกษาสภาพ Duopoly ในตลาดบ้านเราให้ดีเช่นกัน.