กสทช.เคาะไทม์ไลน์ประมูลคลื่น 6 ย่านความถี่ใหญ่ เปิดยื่นขอใบอนุญาต 29 เม.ย. เคาะประมูลจริง 29 มิ.ย. งบประมูลพุ่ง 70 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เตรียมเสนอกรอบระยะเวลาและงบประมาณในการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลต่อที่ประชุม กสทช. ในวันนี้ (21 เม.ย.68) หลังจากดำเนินการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz ไปแล้ว 2 รอบ เมื่อวันที่ 6 ก.พ. และ 1 เม.ย.68 ที่ผ่านมา
สำนักงาน กสทช. จะเริ่มกระบวนการเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมการประมูลในช่วงวันที่ 29 เม.ย. ถึง 28 พ.ค.68 โดยกำหนดให้ผู้ประสงค์จะเข้าร่วมต้องยื่นคำขอภายในวันที่ 29 พ.ค.68 จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติระหว่างวันที่ 30 พ.ค. ถึง 5 มิ.ย. และเสนอผลต่อที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. เพื่อพิจารณาและแจ้งผลระหว่างวันที่ 6 ถึง 13 มิ.ย.68 ทั้งนี้ ผู้ขอใบอนุญาตสามารถยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณาได้ในวันที่ 16, 17 และ 18 มิ.ย.68 ก่อนที่สำนักงานจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 มิ.ย.68
หลังจากนั้นจะมีการจัดประมูลจำลอง (Mock Auction) ในวันที่ 23 มิ.ย.68 เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้เข้าร่วมการประมูล ก่อนเข้าสู่วันประมูลคลื่นความถี่จริงในวันที่ 29 มิ.ย.68
สำหรับกรอบงบประมาณในการจัดการประมูลครั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ได้กำหนดไว้รวม 70 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายด้านสถานที่ ระบบคอมพิวเตอร์ การจัดจ้างผู้ดูแลกระบวนการประมูล ระบบรักษาความปลอดภัย ค่าที่ปรึกษาและผู้ตรวจคุณสมบัติ รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการประชาสัมพันธ์ทั้งก่อนและหลังการประมูล เช่น การผลิตภาพยนตร์โฆษณา คลิปไวรัล และเนื้อหาสื่อสารออนไลน์เพื่อสร้างการรับรู้แก่สาธารณชน
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมบอร์ดยังไม่ได้หยิบยกประเด็นเรื่องราคาตั้งต้นในการประมูลคลื่นทั้ง 6 ย่านขึ้นมาหารือ โดยคาดว่าจะใช้ราคาที่สำนักงาน กสทช. เสนอไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งรวมความถี่ทั้งหมด 450 MHz คิดเป็นมูลค่าราคาตั้งต้นรวม 121,026 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ คลื่นความถี่ย่าน 850 MHz มีใบอนุญาตละ 2x5 MHz ราคาเริ่มต้นใบละ 6,609 ล้านบาท, คลื่นความถี่ย่าน 1500 MHz ใบอนุญาตละ 5 MHz ราคา 904 ล้านบาท, คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ใบอนุญาตละ 2x5 MHz ราคา 6,219 ล้านบาท, คลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz มีทั้งใบอนุญาต 2x5 MHz ราคา 3,391 ล้านบาท และใบอนุญาต 5 MHz ราคา 497 ล้านบาท, คลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz ใบอนุญาตละ 10 MHz ราคา 1,675 ล้านบาท และคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz ใบอนุญาตละ 100 MHz ราคา 423 ล้านบาท
การประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้ ถือเป็นการจัดสรรคลื่นชุดใหญ่ของ กสทช. ที่จะส่งผลโดยตรงต่อการขยายโครงข่ายโทรคมนาคมในประเทศ และการพัฒนาบริการในยุค 5G อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งยังเป็นการปูทางสู่เทคโนโลยีแห่งอนาคตที่ต้องอาศัยทรัพยากรคลื่นความถี่จำนวนมากในเชิงโครงสร้างพื้นฐานอีกด้วย