'ธนพันธุ์' ฮึ่ม! เคารพมติบอร์ด กสทช. ฟัน 'ไตรรัตน์' พ้นรักษาการเลขาฯ กสทช. ศาลตัดสินชัด บอร์ด 4 คนทำถูกกฎหมาย ดันสอบวินัย-ล้มแผนยื้อเก้าอี้ 5 ปี
ตามศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาวันที่ 8 เม.ย.68 ยกฟ้องกรรมการ กสทช. 4 คน กับพวก รวม 5 ราย ในคดีหมายเลขดำ อท.155/2566 จากกรณีการเปลี่ยนตัวรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. และการสนับสนุนค่าใช้จ่ายซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี 2022 มูลค่า 600 ล้านบาท โดยระบุว่า การดำเนินการของจำเลยเป็นไปตามมติที่ถูกต้องของที่ประชุม กสทช. และมีคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้สอบสวนการกระทำของโจทก์ คือ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ และรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ในขณะนั้น
การวินิจฉัยของศาลสอดคล้องกับมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 11/2568 ซึ่งมีการอธิบายถึงปัญหาทางกฎหมายในการแต่งตั้งรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.ก่อนหน้านี้ ขณะที่ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการกระจายเสียง เสนอให้ที่ประชุมดำเนินการตามมติครั้งก่อนหน้า คือ
1.เปลี่ยนตัวรองเลขาธิการ และรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.จากนายไตรรัตน์ จนกว่าผลสอบจะแล้วเสร็จ
2.แต่งตั้งนายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ เป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการกสทช.
3.ให้สำนักงาน กสทช. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย
อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าวแม้มีผลผูกพันตามกฎหมายตั้งแต่ 9 มิ.ย.66 แต่กลับไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในรายงานการประชุม โดยอ้างว่า ยังไม่มีหนังสือและกระบวนการยังไม่สิ้นสุด
ขณะเดียวกัน มีข้อสังเกตถึงการที่ นายไตรรัตน์ ยังคงปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. แม้ที่ประชุมพิเศษเมื่อ 17 ม.ค.67 จะลงมติไม่เห็นชอบการแต่งตั้ง เลขาธิการ กสทช.คนใหม่ และยังไม่มีการสรรหาคนใหม่แม้จะมีหนังสือเร่งรัดจากกรรมการหลายราย ทั้งที่ตำแหน่งเลขาธิการว่างเว้นมาตั้งแต่ 1 ก.ค.63 นับถึงปัจจุบันเกือบ 5 ปี
นายไตรรัตน์ ซึ่งเข้าสู่ตำแหน่งจากการสมัครทั่วไป และจะหมดวาระวันที่ 30 เม.ย.68 ยังถูกตั้งข้อสังเกตว่า มีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นพนักงานประจำโดยไม่ผ่านที่ประชุม กสทช. โดยมี นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม ลงนามก่อนจะขอยกเลิกภายหลัง อ้างว่าไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาทางข้อกฎหมายที่กรรมการ กสทช. ต้องเรียกประชุมเพื่อพิจารณา แต่ก็ถูกชะลอการบรรจุวาระโดยประธาน กสทช.
นอกจากนี้ยังมีกรณีการประเมินผลล่วงหน้า 7 เดือนของนายไตรรัตน์ ซึ่งควรประเมินเมื่อครบวาระ และมีคำสั่งต่ออายุการทำงานของนายไตรรัตน์ และนายสุทธิศักดิ์ โดยผ่านที่ประชุมเพียงให้ "รับทราบ" ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากกรรมการ ส่งผลให้กระบวนการแต่งตั้งถูกตั้งคำถามว่า "ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่"
แหล่งข่าวใน กสทช. เผยว่า ขณะนี้มีการร้องเรียนกรณีดังกล่าวถึงคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว และอยู่ระหว่างการเข้าสู่กระบวนการสอบข้อเท็จจริง
ขณะที่ ตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ตัวจริงยังว่างเว้น คำถามสำคัญ คือ ปลายเดือน เม.ย.68 ใครจะถูกผลักดันให้ขึ้นนั่งเก้าอี้ตัวจริง และจะโปร่งใสแค่ไหน?