เกาะติดดราม่าชามโตในสังคมญี่ปุ่น เมื่อสื่อมวลชนเผยแพร่รายละเอียด “คดีแรกของประเทศ” กับการจับกุมผู้ต้องหา 4 ราย ฐานขาย “ภาพโป๊ที่สร้างขึ้นด้วยปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI-generated porn ซึ่งผิดกฎหมายเซ็นเซอร์ภาพลามก เพราะภาพที่วางขายผ่านเว็บไซต์ประมูลออนไลน์นั้นผ่านการเซ็นเซอร์ แต่เมื่อลูกค้าซื้อไปกลับได้รับภาพเวอร์ชันเต็มแบบไม่มีการปิดบัง
กรณีนี้ทำให้เกิดการถกเถียงว่า กฎหมายของญี่ปุ่นยังไม่มีบทบัญญัติโดยตรง ที่มุ่งลงดาบการสร้างหรือเผยแพร่สื่อลามกที่สร้างจาก AI โดยเฉพาะเมื่อภาพเหล่านั้นไม่ได้อิงจากบุคคลจริง ดังนั้นกฎหมายเซ็นเซอร์ภาพลามกในยุค AI จึงอาจต้องเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุคสมัย
***คดีแรกในประวัติศาสตร์
กลางเมษายน 2568 ตำรวจกรุงโตเกียวได้จับกุมกลุ่มชายหญิง 4 คน อายุระหว่าง 20 ถึง 50 ปี ฐานเผยแพร่ภาพลามกที่สร้างขึ้นโดย AI คนกลุ่มนี้นำข้อมูลภาพร่างกายผู้หญิงมาป้อนให้ระบบ AI และสั่งให้สร้างภาพหญิงเปลือยที่ไม่มีตัวตนจริงขึ้นมา แล้วนำภาพเหล่านี้ไปขายผ่านเว็บไซต์ประมูลออนไลน์
แม้ว่าภาพเหล่านั้นจะไม่ละเมิดลิขสิทธิ์และไม่มีบุคคลจริงเกี่ยวข้อง แต่ปัญหาคือภาพเหล่านี้ไม่ได้มีการทำ "โมเสก" ภาพเบลอ หรือการเซ็นเซอร์ตามที่กฎหมายญี่ปุ่นกำหนดไว้ และบางภาพก็แอบโฆษณาว่าเซ็นเซอร์ แต่ของจริงกลับไม่มีการเซ็นเซอร์ใด ๆ
หนึ่งในผู้ต้องหา ระบุว่าสามารถทำรายได้จากการขายภาพเหล่านี้ไปเกิน 10 ล้านเยนภายในเวลาเพียงครึ่งปี สะท้อนว่าภาพโป๊ AI ได้รับความนิยมแพร่หลายมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
เรื่องนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการถกเถียงครั้งใหม่ในสังคมญี่ปุ่นว่า "กฎหมายเซ็นเซอร์ภาพลามก" ยังมีความจำเป็นในยุค AI หรือไม่ และหน่วยงานควรจะควบคุมเนื้อหาที่สร้างขึ้นจากเทคโนโลยีได้อย่างไร นอกจากนี้ในอนาคต โลกอาจต้องตั้งคำถามใหม่เกี่ยวกับศีลธรรมในโลกเสมือน และขีดเส้นกั้น “ความจริง” กับ “สิ่งจำลอง” ให้ชัดเจนมากขึ้น
***ชาวเน็ตเสียงแตก
จากการสำรวจโลกออนไลน์ พบว่ามุมมองของคนญี่ปุ่นเกี่ยวกับกรณี AI สร้างภาพอนาจารและการจับกุมครั้งแรกในประเทศนี้มีหลากหลายมาก ทั้งฝั่งที่เห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมาย และฝั่งที่ตั้งคำถามกับความเหมาะสมของกฎหมายในยุคเทคโนโลยีล้ำหน้าเช่นทุกวันนี้
ฝั่งที่สนับสนุนการจับกุมนั้นมองว่าการไม่เซ็นเซอร์ภาพ แม้จะเป็นภาพที่ไม่มีอยู่จริง ก็ยังเป็น “ภาพลามก” ที่เข้าข่ายผิดกฎหมายในญี่ปุ่น กลุ่มนี้กังวลว่าหากปล่อยให้เป็นช่องโหว่ อาจนำไปสู่การสร้างภาพที่ใกล้เคียงบุคคลจริงโดยไม่ได้รับอนุญาต (deepfake) ขณะเดียวกันก็มองว่าความปลอดภัยในโลกออนไลน์และสิทธิของเพศหญิงควรได้รับการคุ้มครอง แม้จะเป็นภาพที่สร้างจาก AI
อย่างไรก็ตาม ฝั่งที่ตั้งคำถามกับกฎหมายเซ็นเซอร์ นั้นมองว่า “ภาพเปลือยบุคคลที่ไม่มีตัวตนจริง” ไม่ควรถือว่าเป็นภาพอนาจารผิดกฎหมาย และในเมื่อโลกออนไลน์มีภาพไม่เซ็นเซอร์มากมายที่เข้าถึงง่าย กฎหมายเซ็นเซอร์แบบเดิมอาจล้าสมัยไปแล้ว โดยกลุ่มนี้อาจมีความเห็นแบบประชดประชันว่า “ซื้อหาได้ง่าย แต่ถูกจับเพราะไม่ได้เบลอ” ซึ่งฟังดูย้อนแย้ง
ชาวเน็ตแดนปลาดิบบางรายมองว่าแม้ภาพ AI จะไม่มีตัวตนบุคคลจริง แต่ยังใช้ข้อมูลผู้หญิงจริงเป็นฐาน จึงถือว่าไม่บริสุทธิ์ใจ ขณะที่บางรายมองว่าผู้ซื้อภาพโป๊ AI นั้นแปลกประหลาด เพราะเลือกจ่ายเงินเพื่อดูภาพที่รู้ว่าเป็นของปลอม โดยทุกวันนี้ ใครๆ ก็หาภาพวาบหวิวแบบนี้ได้จากอินเทอร์เน็ต แต่ตำรวจเลือกจะจับกุมแค่ผู้ที่ไม่เบลอภาพ AI เท่านั้น
สำหรับฝั่งที่โฟกัสที่เทคโนโลยี กลุ่มนี้มองว่า AI เป็นเพียงเครื่องมือ คนที่ใช้งานจึงต้องมีจริยธรรมและความรับผิดชอบ ขณะเดียวกัน กฎหมายควรปรับตัว เพื่อให้ศีลธรรมและเทคโนโลยีมีความสมดุลย่ิงขึ้น.