xs
xsm
sm
md
lg

NetSuite รุกอาเซียน พลิกเกม ”ค่าไลเซนส์” (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาตลาดระบบวางแผนทรัพยากรองค์กร (ERP) เปลี่ยนครั้งใหญ่ทั่วอาเซียน เมื่อ “ออราเคิล เน็ตสวีท” (Oracle NetSuite) ประกาศเปลี่ยนรูปแบบการเก็บค่าสิทธิ์ใช้บริการหรือไลเซนส์แบบใหม่ โดยปีนี้จะเปิดเสรีให้องค์กรไม่ต้องซื้อสิทธิ์ทุกส่วน แต่สามารถเลือกเฉพาะหน้าที่งานหรือ Task ที่ต้องการ ระบุโมเดลเก็บค่าไลเซนส์แบบใหม่จะจุดพลุทั่วภูมิภาครวมถึงไทย มั่นใจราคายืดหยุ่นจะได้ใจกลุ่ม SMB แย้มเป้าหมาย NetSuite ในไทยลุยขยายฐานลูกค้าไปหัวเมืองนอกกรุงเทพฯ

โมเดลเก็บค่าไลเซนส์แบบใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของการประกาศมากมายในงาน SuiteConnect 2025 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศสิงคโปร์ โดย NetSuite เลือกนำร่องในตลาดเมอไลออนพร้อมให้บริการนานาชุดความสามารถใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่ NetSuite ได้พัฒนาและผนวกเข้าไปในระบบอย่างครอบคลุมอยู่แล้ว โดยไทยและอีกหลายประเทศอาเซียนล้วนอยู่ในแผนการขยายบริการทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอดปี 2025

สำหรับ NetSuite นั้นเป็นแบรนด์อายุ 25 ปีที่คร่ำหวอดในวงการระบบการวางแผนทรัพยากรขององค์กรหรือ Enterprise Resource Planning (ERP) และถูก Oracle ซื้อไปในปี 2016 ด้วยมูลค่าประมาณ 9.3 พันล้านดอลลาร์ ส่งให้ Oracle ขยายขอบข่ายธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้งและ ERP ได้อย่างมีนัยสำคัญ ปัจจุบัน Oracle และ NetSuite มีทีมเซลล์และฝ่ายวิศวกรที่แยกกัน รวมถึงบริหารโดยผู้บริหารคนละชุด บนการโฟกัสที่กลุ่มลูกค้าคนละกลุ่ม โดย NetSuite เน้นกลุ่มองค์กรธุรกิจขนาดกลาง SMB เป็นหลัก ขณะที่ Oracle โฟกัสที่องค์กรขนาดใหญ่ และเป็น NetSuite ที่เคลมตัวเองด้วยฐานะโซลูชัน ERP บนคลาวด์อันดับ 1 ที่มีลูกค้า 41,000 รายใน 219 ตลาด

***ยกทัพ AI ลุย SMB

จากที่ไม่เคยจัดกิจกรรมการตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย ล่าสุด NetSuite ปักธงสิงคโปร์เป็นพื้นที่แรกที่จะให้บริการความสามารถ AI ใหม่ซึ่งเก่งทั้งด้านคาดการณ์ การสร้างสรรค์ และมีเอเจนต์ผู้ช่วยอัจฉริยะที่ฝังอยู่ใน NetSuite ซึ่งเชื่อว่าองค์กรทุกขนาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้รับประโยชน์มากจากระบบนี้


แกรี่ วีสซิงเกอร์ (Gary Wiessinger) รองประธานฝ่ายอาวุโส ฝ่ายพัฒนาแอปพลิเคชันของ Oracle NetSuite เล่าถึงหนึ่งในฟีเจอร์ที่น่าทึ่งที่สุดคือ NetSuite Text Enhance และ Prompt Studio ว่าใช้ AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดข้อผิดพลาดจากมนุษย์ และบรรเทาความเสี่ยง นอกจากนี้ยังมี Enterprise Performance Management หรือ EPM ที่ช่วยเชื่อมโยงการวางแผนทางการเงินและการดำเนินงาน ทำให้กระบวนการทางบัญชีราบรื่นขึ้น ซึ่งขณะนี้พร้อมแล้วสำหรับธุรกิจในสิงคโปร์ที่ต้องการเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินงาน

สำหรับธุรกิจที่มีทีมภาคสนาม NetSuite เปิดตัว Field Service Management ซึ่งรวมการจัดการตารางงาน การจัดส่ง การจัดการสินค้าคงคลัง และการบำรุงรักษาเชิงป้องกันไว้ในแอปมือถือเดียว ล่าสุดพร้อมทำตลาดในสิงคโปร์และฟิลิปปินส์ เพื่อมอบประสบการณ์บริการที่ราบรื่นยิ่งขึ้น

อีกหนึ่งบริการน่าจับตา คือ NetSuite Analytics Warehouse ที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจอย่างรวดเร็ว ค้นหารูปแบบและสร้างข้อมูลเชิงลึก ช่วยประหยัดเวลาในการสร้างรายงานและเข้าถึงข้อมูลที่จะขับเคลื่อนการขยายธุรกิจ และสำหรับทีมขาย โซลูชันที่พร้อมเสิร์ฟคือ NetSuite CPQ ที่ช่วยให้ทีมขายสามารถกำหนดค่า ราคา และเสนอราคาสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนได้อย่างรวดเร็ว เพิ่มความแม่นยำในการเสนอราคาและการสั่งซื้อ

สำหรับประเทศไทย โซลูชันใหม่ที่ NetSuite พร้อมทำตลาดในขณะนี้ คือระบบการออกแบบ Oracle Redwood Design System ซึ่งได้ปรับปรุงอินเทอร์เฟซส่วนติดต่อผู้ใช้ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ช่วยให้ผู้ใช้ทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

อามิต ซุซีนา (Amit Suxena) หัวหน้าภูมิภาคเอเชียของ NetSuite
และที่น่าสนใจที่สุดคือโมเดลการให้ใบอนุญาต หรือไลเซนส์แบบใหม่ที่มอบใบอนุญาตเฉพาะงานสำหรับระบบการจัดการคลังสินค้า NetSuite Warehouse Management System (WMS) และการจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า NetSuite Customer Relationship Management (CRM) ซึ่ง NetSuite การันตีว่าจะช่วยให้องค์กรสามารถควบคุมต้นทุนได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากพนักงานองค์กรจะสามารถเข้าถึงฟังก์ชันหลักของ NetSuite ได้โดยไม่ต้องสมัครสมาชิกแบบเต็มรูปแบบ

***พร้อมลุยภูธร

อามิต ซุซีนา (Amit Suxena) หัวหน้าภูมิภาคเอเชียของ NetSuite เปิดเผยถึงแนวทางการทำตลาดในปี 2025 ว่าจะยังโฟกัสเอเชียครอบคลุมทั้งอินเดีย จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และแน่นอนคือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด โดยยอมรับว่า NetSuite มีฐานที่แข็งแกร่งอยู่แล้วในบางพื้นที่ เช่น ฟิลิปปินส์ ที่มีศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ขนาดใหญ่อยู่ที่มะนิลา แต่สำหรับตลาดอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทย NetSuite นั้นมีทีมงานและธุรกิจอยู่ในแทบทุกประเทศแล้ว

“โฟกัสของ NetSuite มุ่งเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMBs เป็นหลัก เนื่องจากเล็งเห็นว่าองค์กรเหล่านี้ต้องการโซลูชันแบบครบวงจร ที่สามารถจัดการทุกเรื่องตั้งแต่บัญชี การเงิน การจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) ไปจนถึงซัพพลายเชน ได้บนแพลตฟอร์มเดียวกัน ไม่ต้องลงทุนกับระบบที่ซับซ้อนและหลากหลาย ซึ่ง NetSuite สามารถตอบโจทย์นี้ได้อย่างลงตัว ด้วยระบบที่เป็นหนึ่งเดียว ข้อมูลเชื่อมโยงกัน ทำให้การบริหารจัดการธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ”

Al agents and gen Al features
อามิตย้ำว่า NetSuite เป็นบริษัทที่เกิดมาบนคลาวด์อย่างแท้จริง ไม่ใช่บริษัทซอฟต์แวร์แบบเดิมที่เพิ่งปรับตัวมาสู่คลาวด์ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่สำคัญมากในยุคนี้ โดยจุดเริ่มต้นของบริษัทนั้นมาจากแลรี่ เอลิสัน (Larry Ellison) ผู้ก่อตั้งออราเคิล (Oracle) ที่ได้คุยกับอีวาน โกลด์เบิร์ก (Evan Goldberg) ผู้ก่อตั้ง NetSuite ว่าอยากเห็นซอฟต์แวร์บนคลาวด์ที่สามารถเข้าถึงได้จากทุกที่ ซึ่งไอเดียนี้ถือเป็นจุดกำเนิดของบริษัทให้บริการซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจที่ทำงานบนคลาวด์หรือ SaaS ทีเดียว

สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อามิตเผยว่า NetSuite กำลังเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และล่าสุด การที่ Oracle ส่งสัญญาณเปิดตัวศูนย์ข้อมูลใหม่ในอินโดนีเซีย ก็แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการขยายธุรกิจในภูมิภาคนี้

NetSuite Analytics Warehouse
อีกประเด็นที่น่าจับตามองสำหรับประเทศไทยก็คือ เป้าหมายของ NetSuite ในปีนี้ จะเน้นการขยายฐานลูกค้าไปยังหัวเมืองนอกเหนือจากกรุงเทพฯ เนื่องจาก NetSuite มองเห็นโอกาสและศักยภาพของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีเหล่านี้อีกมาก ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์การเติบโตของธุรกิจในต่างจังหวัดของประเทศไทย

เมื่อถามถึงการแข่งขันในตลาดซอฟต์แวร์ ERP ยุคใหม่ ซึ่งมีการแข่งขันด้านราคาสูง อามิตชี้ให้เห็นถึงข้อได้เปรียบที่สำคัญของ NetSuite นั่นคือ การได้รับการสนับสนุนจาก Oracle บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลก ทำให้ NetSuite สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง รวมถึงศูนย์ข้อมูลที่เป็นของตัวเอง ซึ่งช่วยลดต้นทุนและส่งผลให้ NetSuite สามารถนำเสนอซอฟต์แวร์ระดับองค์กรในราคาที่แข่งขันได้

NetSuite Enterprise Performance Management
สำหรับเป้าหมายระยะยาวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า NetSuite มุ่งเน้นที่จะอยู่ใกล้ชิดกับลูกค้าให้มากขึ้น โดยการมีทีมงานและผู้เชี่ยวชาญในแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือเวียดนาม เพื่อให้สามารถเข้าใจความต้องการของลูกค้าในแต่ละตลาดได้อย่างลึกซึ้ง และนำเสนอโซลูชันที่ตอบโจทย์ได้อย่างตรงจุด รวมถึงการพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์เฉพาะสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ให้มากขึ้น

“ความท้าทายที่สำคัญในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความหลากหลายทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม และระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การมีกลยุทธ์ที่ไม่เจาะจงในแต่ละประเทศอาจไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น NetSuite จึงตระหนักถึงจุดนี้ และให้ความสำคัญกับการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของแต่ละตลาด”

ที่สุดแล้ว การเปิดตัวค่าไลเซนส์แบบใหม่ของ NetSuite อาจเป็นการปรับตัวที่ถือเป็นอาวุธหนักในการเจาะตลาดซอฟต์แวร์บริหารจัดการธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าจะเกิดผลกระทบเชิงบวกทั้งการเข้าถึงที่ง่ายขึ้นสำหรับ SMB ขณะเดียวกันก็รับมือกับการแข่งขันที่สูงขึ้น คู่กับการปรับปรุงประสิทธิภาพและลดต้นทุน อาจจะนำไปสู่การขยายฐานลูกค้าของ NetSuite ในที่สุด.


กำลังโหลดความคิดเห็น