xs
xsm
sm
md
lg

Group-IB x มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้ง "ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความมั่นคงทางไซเบอร์"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ถอดรหัสความร่วมมือครั้งสำคัญ "Group-IB" และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือตั้ง "ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความมั่นคงทางไซเบอร์" หรือ The Cybersecurity Center of Excellence (CCE) ซึ่งคาดว่าจะยกระดับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศไทยแบบก้าวกระโดด

การลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งสำคัญได้เกิดขึ้นระหว่างบริษัทระดับโลกอย่าง Group-IB ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีความปลอดภัยไซเบอร์ระดับแนวหน้า กับมหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศไทย จะทำให้เกิดศูนย์ CCE ที่จะเป็นศูนย์กลางสำคัญของประเทศในด้านการศึกษา วิจัย และเสริมสร้างศักยภาพด้านการป้องกันภัยไซเบอร์ที่มีมาตรฐานระดับโลก ถือเป็นความร่วมมือที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในยุคที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์พัฒนาและซับซ้อนขึ้นทุกวัน

***เชื่อมช่องว่างประเทศไทย

อนาสตาเซีย บาริโนวา หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติงานการศึกษาของ Group-IB กล่าวว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยเชื่อมช่องว่างทางทักษะด้านความปลอดภัยไซเบอร์ในประเทศไทย ด้วยการเสริมความรู้และเทคโนโลยีล่าสุดให้กับนักศึกษาและผู้ประกอบวิชาชีพ โดยมั่นใจว่าศูนย์ความเป็นเลิศด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะมีบทบาทสำคัญในการเสริมแกร่งกำลังคนให้มีทักษะสูง พร้อมรับมือความท้าทายจากภัยคุกคามไซเบอร์ที่เกิดขึ้นใหม่

"องค์กรต่าง ๆ จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะที่สามารถรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลในครั้งนี้ เรามีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมช่องว่างทางทักษะด้านความปลอดภัยไซเบอร์ในประเทศไทย ด้วยการติดอาวุธให้นักศึกษาและผู้ประกอบวิชาชีพต่าง ๆ ด้วยโซลูชันด้านความปลอดภัยล่าสุดที่สามารถจัดการภัยคุกคามได้อย่างอัจฉริยะ"


รศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน จากมหาวิทยาลัยมหิดล มองว่านี่คือการบูรณาการที่สมบูรณ์แบบระหว่างแพลตฟอร์มทางวิชาการของมหาวิทยาลัยกับความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีล้ำสมัยของ Group-IB ที่เข้าใจบริบทภัยคุกคามในประเทศไทยอย่างลึกซึ้ง

“เรามีความยินดีอย่างยิ่งในความร่วมมือจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ นับได้ว่าเป็นการบูรณาการที่สมบูรณ์แบบระหว่างแพลตฟอร์มทางวิชาการของมหาวิทยาลัยมหิดลผสานกับองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีล้ำสมัยของ Group-IB ที่ทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจในเรื่องภัยคุกคามทางไซเบอร์ในประเทศไทยอย่างถ่องแท้ ซึ่งจะเอื้อต่อการริเริ่มโครงการบุกเบิกด้านการศึกษาด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งอนาคต”

ความน่าสนใจของโปรเจ็กต์นี้ คือมหาวิทยาลัยมหิดลจะนำเอาโซลูชันความปลอดภัยทางไซเบอร์ขั้นสูงของ Group-IB มาบูรณาการเข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอน ให้นักศึกษาได้เรียนรู้และฝึกใช้เทคโนโลยี เมื่อนักศึกษาได้ใช้เครื่องมืออย่าง Group-IB Managed XDR ก็จะสามารถตรวจจับและตอบสนองต่อภัยคุกคามเชิงรุก, Business Email Protection เพื่อปกป้องการสื่อสารขององค์กร, Threat Intelligence สำหรับวิเคราะห์ภัยคุกคามแบบเรียลไทม์ และ Attack Surface Management เพื่อค้นหาและแก้ไขช่องโหว่ด้านความปลอดภัย

(ภาพจากซ้าย) รศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน หัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ นางสาวอนาสตาเซีย บาริโนวา หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติงานการศึกษา Group-IB
ไม่ใช่แค่นักศึกษาเท่านั้น ศูนย์นี้ยังเปิดโอกาสให้มืออาชีพในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้เข้ามาพัฒนาทักษะด้านความปลอดภัยไซเบอร์ที่จำเป็นอีกด้วย ถือเป็นการเติมเต็มช่องว่างของบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่ประเทศไทยกำลังขาดแคลนอย่างหนักในปัจจุบัน

พิธีเปิดศูนย์นี้ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.เอกพร รักความสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง และผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ NCSA มาร่วมงาน แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของโครงการนี้ในระดับประเทศ

สำหรับ Group-IB นั้นเป็นบริษัทที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2003 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ และมีศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมดิจิทัลกระจายอยู่ทั่วโลก ทั้งในอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา เอเชียกลาง และเอเชียแปซิฟิก

บริษัทได้พัฒนาแพลตฟอร์มที่เรียกว่า Unified Risk Platform ที่รวบรวมโซลูชันชั้นนำด้านความปลอดภัยไซเบอร์ไว้อย่างครบวงจร ให้บริการลูกค้าหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งภาครัฐ ค้าปลีก เฮลท์แคร์ เกม การเงิน และอื่นๆ

นอกจากนี้ Group-IB ยังร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายระดับนานาชาติ เช่น INTERPOL EUROPOL และ AFRIPOL เพื่อยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ในระดับโลกด้วย.


กำลังโหลดความคิดเห็น