xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าพลัง AI+Digital Twin พลิกโฉมอนาคตไทยกันภัยไซเบอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ณัฐวิชช์ ว่องสิทธิโรจน์" Regional Technical Head ของ ManageEngine มั่นใจ Digital Twin และ AI เป็น 2 เทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนโฉมธุรกิจไทยในมุมมองการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ ชี้การนำ Digital Twin ผสานเข้ากับ AI จะช่วยเสริมสร้างระบบป้องกันที่สามารถตอบสนองและปรับตัวได้อย่างชาญฉลาด ย้ำ Digital Twin สามารถสร้างและรวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาล ซึ่งช่วยให้ AI สามารถวิเคราะห์แนวโน้มในอดีตและคาดการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในอนาคตได้แม่นยำกว่า

ผู้บริหาร ManageEngine รายนี้เชื่อว่าความปลอดภัยของ Digital Twin ที่ขับเคลื่อนด้วย AI จะมีพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในอีก 3-5 ปีข้างหน้า อันเป็นผลมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI และการนำ Digital Twin มาใช้มากขึ้นในหลากหลายอุตสาหกรรม

"หนึ่งในแนวโน้มสำคัญคือ ระบบความปลอดภัยแบบปรับตัวได้ด้วย AI (AI- driven Adaptive Security Systems) ซึ่งจะได้รับความนิยมมากขึ้น ระบบเหล่านี้สามารถเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยปรับมาตรการรักษาความปลอดภัยให้เหมาะสมกับภัยคุกคามล่าสุด ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลจาก Digital Twin แบบเรียลไทม์ วิธีการที่ยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้นี้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ ทำให้ระบบมีความมั่นคงและต้านทานการโจมตีได้ดียิ่งขึ้น"

***ไทยอยู่ตรงไหน ในโลก Digital Twin

ณัฐวิชช์อธิบายว่าปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมการผลิต โครงสร้างพื้นฐาน และเฮลธ์แคร์ กลายเป็นกลุ่มที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการนำ Digital Twin มาใช้ แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อ Digital Twin มาผสานกับ AI จะสร้างระบบป้องกันอัจฉริยะที่ปรับตัวได้แบบอัตโนมัติ ซึ่งสามารถวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลเพื่อคาดการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างแม่นยำ


ณัฐวิชช์ได้เน้นย้ำถึงภัยคุกคามไซเบอร์ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นในอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การใช้คลาวด์ และเซนเซอร์อัจฉริยะ ยิ่งระบบเชื่อมต่อกันมากเท่าไร ความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้การผลิตหยุดชะงัก และเกิดความสูญเสียทางการเงินอย่างมหาศาล

"ไม่เพียงแค่ภาคการผลิตเท่านั้น" ณัฐวิชช์กล่าว "อุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์ของไทยก็เป็นเป้าหมายหลักของอาชญากรไซเบอร์ เนื่องจากมีข้อมูลสุขภาพที่มีค่า ทั้งประวัติการรักษา แผนการรักษา และรายละเอียดการชำระเงิน ซึ่งถ้าข้อมูลเหล่านี้รั่วไหลอาจนำไปสู่ผลกระทบทางกฎหมายและทำลายความไว้วางใจระหว่างผู้ป่วยกับผู้ให้บริการ"

ถามว่าองค์กรไทยจะนำเทคโนโลยี AI และ Digital Twin มาใช้ได้จริงหรือไม่? ณัฐวิชช์แนะนำว่าก่อนเริ่มดำเนินการ องค์กรควรวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์อย่างละเอียด พิจารณาทั้งค่าใช้จ่ายในการลงทุน และความคุ้มค่าทางธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีประเด็นด้านจริยธรรมที่ต้องคำนึงถึง เช่น อคติในอัลกอริทึม การขาดความโปร่งใส และการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ

***ฝันร้ายโรงงาน "หุ่นยนต์ทำงานพลาด"

เรื่อง Digital Twin นั้นมีประเด็นในวงการไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เพราะเคยมีกรณีตัวอย่างการโจมตีระบบ Digital Twin ในโลกจริง อย่างเช่น การโจมตีแบบ Manipulator-in-the-Middle ที่มุ่งเป้าไปยัง Digital Twin ของระบบหุ่นยนต์ ซึ่งทำให้หุ่นยนต์จริงทำงานผิดพลาด เป็นอันตรายต่อระบบและผู้ปฏิบัติงาน แต่ณัฐวิชช์ชี้ว่าระบบที่ขับเคลื่อนด้วย AI สามารถช่วยป้องกันได้ โดยวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลเพื่อตรวจจับรูปแบบและความผิดปกติที่บ่งชี้ถึงภัยคุกคามไซเบอร์

ณัฐวิชช์ ว่องสิทธิโรจน์ Regional Technical Head จาก ManageEngine
เรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือเรื่องของ ROI หรือผลตอบแทนจากการลงทุน ณัฐวิชช์อธิบายว่า การลงทุนใน AI และ Digital Twin ไม่ใช่แค่เรื่องนวัตกรรม แต่เป็นการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ผลตอบแทนที่วัดผลได้ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจจับภัยคุกคาม การลดความเสี่ยงจากการถูกโจมตี การปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน และการลดต้นทุนจากเหตุการณ์ด้านความปลอดภัย

แต่การจะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด บุคลากรไทยต้องพัฒนาทักษะอะไรบ้าง? ณัฐวิชช์เน้นย้ำว่าสิ่งสำคัญอันดับแรกคือการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ด้าน AI ผ่านการฝึกอบรมและหลักสูตร AI-literacy การรับมือกับความเสี่ยงทางไซเบอร์ยังต้องอาศัยทีมงานที่มีความหลากหลายทางวิชาชีพ ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

ที่สุดแล้ว อนาคตของเทคโนโลยีนี้จะมีเส้นทางพัฒนาอีกยาวไกล ณัฐวิชช์คาดการณ์ว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เราจะเห็นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของระบบความปลอดภัยแบบปรับตัวได้ด้วย AI หรือ AI-driven Adaptive Security Systems ซึ่งสามารถเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยปรับมาตรการรักษาความปลอดภัยให้เหมาะสมกับภัยคุกคามล่าสุด

"ประเทศไทยมีความพร้อมด้านกฎหมายและระเบียบข้อบังคับแล้ว ทั้งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 และแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ พ.ศ. 2565-2570 ซึ่งสร้างสภาพแวดล้อมทางกฎหมายที่แข็งแกร่ง รองรับการใช้ AI ในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์" ณัฐวิชช์ทิ้งท้าย.
กำลังโหลดความคิดเห็น