ร้อนแรงจริงๆ สำหรับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่กำลังส่งผลกระทบต่ออนาคตของแอปพลิเคชันยอดนิยมอย่างติ๊กตอก (TikTok)
เมื่อ 5 เมษายน 2025 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศขยายเวลาการขายกิจการ TikTok ในสหรัฐฯ ของบริษัท ไบต์แดนซ์ (ByteDance) บริษัทแม่ของ TikTok ออกไปอีก 75 วัน จากเดิมที่มีกำหนดบังคับใช้ในเดือนมกราคมตามกฎหมายปี 2024 โดยโพสต์ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย Truth Social ของตัวเองว่า เนื่องจากดีล TikTok "ต้องการการทำงานเพิ่มเติมเพื่อให้แน่ใจว่าการอนุมัติที่จำเป็นทั้งหมดได้รับการลงนาม" เขาจึงลงนามในคำสั่งบริหารเพื่อให้ TikTok ยังคงดำเนินการต่อไปได้อีก 75 วัน
ที่น่าสนใจคือ เรื่องนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังจากที่ทรัมป์เพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนถึง 34% เมื่อต้นสัปดาห์ ส่งผลให้สินค้าส่งออกจากจีนมาสหรัฐฯ ต้องเสียภาษีในอัตราสูงถึง 54% โดยก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เสนอที่จะลดภาษีนำเข้าจากจีน หากรัฐบาลจีนช่วยอำนวยความสะดวกในการขายกิจการ TikTok
เวลานั้นทรัมป์เปิดเผยว่ามีการติดต่อกับกลุ่มนักลงทุน 4 กลุ่มเกี่ยวกับการซื้อกิจการ TikTok แต่ไม่ได้ระบุชื่อกลุ่มเหล่านั้น โดยย้ำว่าไม่ต้องการให้ TikTok "จอดำ" ซึ่งตามรายงานของรอยเตอร์ การเจรจาที่นำโดยทำเนียบขาวเกี่ยวกับอนาคตของ TikTok กำลังมุ่งเน้นไปที่แผนให้นักลงทุนชาวอเมริกันเป็นเจ้าของส่วนใหญ่ของ TikTok ในสหรัฐฯ ขณะที่ ByteDance จะยังคงถือหุ้นส่วนน้อยในบริษัท อย่างไรก็ตาม อุปสรรคหลักของข้อตกลงดังกล่าวยังคงเป็นการอนุมัติจากรัฐบาลจีน ซึ่งจนถึงขณะนี้ รัฐบาลจีนก็ยังไม่ได้แสดงท่าทีสนับสนุนการขายกิจการอย่างเป็นทางการ
แต่แล้ว 9 เมษายน 2025 ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวถึงดีลขาย TikTok ในสหรัฐว่ายังไม่มีการตกลงหรือปฏิเสธใดๆ (still on the table) โดยความเห็นนี้ถูกกล่าวถึงหลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอย่างกะทันหัน โดยเพิ่มจากจุดเริ่มที่ 34% ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 50% และล่าสุดได้ประกาศว่าจะเพิ่มเป็น 125% ซึ่งนับเป็นการขึ้นภาษีที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์การค้าระหว่าง 2 ประเทศ
ฝั่งจีนนั้นตอบโต้ทันทีด้วยการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ที่ 84% และที่สำคัญ คือปฏิเสธที่จะอนุมัติข้อตกลงเกี่ยวกับ TikTok ที่มีทีท่าว่าจะเพิ่งบรรลุข้อตกลงกันได้ก่อนหน้านี้
***ค้างคาต่อ ไม่รับและไม่ปฏิเสธ
สื่อต่างประเทศรายงานว่าประธานาธิบดีทรัมป์เคยกล่าวก่อนหน้านี้ ว่าทุกฝ่ายใกล้จะบรรลุข้อตกลง TikTok แล้ว แต่จีนกลับเปลี่ยนใจเพราะเรื่องภาษี และยังบอกด้วยว่า "ถ้าผมลดภาษีลงสักนิด" จีนจะอนุมัติข้อตกลงภายใน 15 นาที ก่อนจะสรุปว่าเป็น "พลังของภาษี" ที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศกลับมองว่า สถานการณ์นี้กำลังให้อำนาจต่อรองกับจีนมากขึ้น เพราะกฎหมายสหรัฐฯ ที่บังคับให้ ByteDance ต้องขายหุ้น TikTok หรือเผชิญกับการแบนในสหรัฐฯ ทำให้จีนมีเครื่องมือต่อรองในการเจรจาเรื่องภาษี
ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ยังประเมินว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อาจมีอำนาจต่อรองเหนือกว่าประธานาธิบดีทรัมป์ เนื่องจากสหรัฐฯ มีความเปราะบางต่อผลกระทบจากสงครามการค้ามากกว่า โดยในขณะที่จีนสามารถเบี่ยงเบนการส่งออกไปยังตลาดอื่นได้ ชาวอเมริกันจะได้รับผลกระทบหนักจากเงินเฟ้อและความผันผวนในตลาดหุ้น
ล่าสุด ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายที่กำหนดให้ ByteDance ต้องขายหุ้น TikTok ออกไปอีก 75 วัน ซึ่งหลายฝ่ายตั้งคำถามถึงความชอบด้วยกฎหมายของการขยายเวลาดังกล่าว
***ถ่วงเวลา ใครได้ประโยชน์?
วุฒิสมาชิกมาร์ค วอร์เนอร์ (Sen. Mark Warner) จากพรรคเดโมแครต หนึ่งในผู้ผลักดันกฎหมายนี้ ได้แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการเจรจาเกี่ยวกับ TikTok โดยระบุว่าการขยายเวลา 75 วันครั้งที่ 2 นี้เข้าข่ายการละเมิดกฎหมายอย่างชัดเจน เนื่องจากกฎหมายอนุญาตให้ประธานาธิบดีขยายเวลาได้เพียงครั้งเดียวเป็นเวลา 90 วันเท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น วุฒิสมาชิกคริส เมอร์ฟี (Sen. Chris Murphy) ยังวิจารณ์ว่าทรัมป์อาจกำลัง "ถ่วงเวลาเพื่อทำข้อตกลงที่จะให้พันธมิตรทางการเมืองของตัวเอง เข้ามาควบคุม TikTok และเปลี่ยนให้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่ม MAGA หรือกลุ่มทางการเมือง Make America Great Again ที่มีชื่อตามแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งของทรัมป์ในปี 2016 และถูกใช้ต่อเนื่องมาตลอดสมัยที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ
ในขณะเดียวกัน ส.ส. จอห์น มูลีแนร์ (Rep. John Moolenaar) จากพรรครีพับลิกัน ประธานคณะกรรมการคัดเลือกสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ยืนยันว่าข้อตกลงใดๆ ที่ยังคงให้ ByteDance มีอิทธิพลเหนือแพลตฟอร์มนี้จะเป็นการละเมิดกฎหมายโดยตรง
***ร้าวลึกยาวกว้าง
แน่นอนว่าความขัดแย้งครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องเพียงแค่ TikTok เท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นที่ใหญ่กว่านั่นคือความสัมพันธ์โดยรวมระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รวมถึงการถกเถียงเกี่ยวกับบริษัทเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียในวงกว้าง
สำหรับกฎหมายที่บังคับให้ TikTok ต้องขายหุ้นหรือเผชิญกับการแบน นั้นเกิดขึ้นจากความกังวลด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและความมั่นคงของชาติที่เชื่อมโยงกับบริษัทแม่ในจีน โดยนักการเมืองอเมริกันทั้ง 2 พรรคแสดงความกังวลว่าทางการจีนอาจเข้าถึงและจัดการข้อมูลของผู้ใช้ชาวอเมริกันได้
และแม้ว่า TikTok จะเป็นแอปพลิเคชันเดียวที่ถูกระบุชื่อในกฎหมาย แต่กฎหมายนี้อาจใช้กับแอปอื่นๆ ที่เป็นเจ้าของหรือดำเนินการโดยคู่แข่งต่างชาติด้วย เช่น โมเดล AI ที่เพิ่งเปิดตัวจากสตาร์ทอัปจีนอย่างดีพซีก (DeepSeek)
ที่สุดแล้ว โลกยังคงต้องติดตามว่าอนาคตของ TikTok จะเป็นอย่างไร และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะทวีความรุนแรงขึ้นอีกหรือไม่ ในไม่กี่อึดใจนับจากนี้.