ศาลนัดฟังคำพิพากษา 8 เม.ย.68 คดีไตรรัตน์ฟ้อง 5 ผู้บริหาร กสทช. ปมปลดฟ้าผ่า-ตั้งสอบวินัยไม่ชอบ ลากยาวดราม่าเงินลิขสิทธิ์บอลโลก 600 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 8 เม.ย.68 ในคดีหมายเลขดำ อท.155/2566 ซึ่ง นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กรรมการ กสทช. 4 ราย และรองเลขาธิการอีก 1 ราย ฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 157 และกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 172
จำเลยทั้ง 5 ประกอบด้วย พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต, รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย, รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ซึ่งเป็นกรรมการ กสทช. และ ผศ.ดร.ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช.
ต้นเหตุของคดีเกิดจากคำสั่งลับ กสทช. ที่ 7/2566 ลงวันที่ 23 ม.ค.66 ที่แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบงบประมาณ 600 ล้านบาทจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สำหรับการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 โดยจำเลยที่ 1 ถึง 3 เป็นผู้เสนอรายชื่อคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว ซึ่งต่อมาถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจขัดต่อกฎหมาย ฝ่าฝืนมติ กสทช. และข้อเสนอจากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)
ต่อมาเมื่อวันที่ 20 เม.ย.66 คณะอนุกรรมการได้จัดทำรายงานลับชี้ว่า การดำเนินการของสำนักงาน กสทช. อาจฝ่าฝืนกฎหมาย โดยมี 4 เสียงเห็นพ้อง และอีก 2 เสียงงดออกความเห็น ซึ่งนายไตรรัตน์โต้แย้งว่า รายงานดังกล่าวไม่มีน้ำหนักทางกฎหมาย และเป็นเพียงความเห็นลอยๆ
อย่างไรก็ดี รายงานดังกล่าวถูกนำเข้าสู่การประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.66 ในวาระ 5.22 และที่ประชุมมีมติให้ตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย พร้อมปลดนายไตรรัตน์ออกจากตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ โดยอ้างว่าการกระทำของเขาอาจฝ่าฝืนกฎหมาย
นายไตรรัตน์ ยื่นฟ้องต่อศาลโดยระบุว่า การลงมติดังกล่าวขัดต่อระเบียบ กสทช. ที่ห้ามกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยโดยลำพัง และเปิดช่องให้จำเลยที่ 5 เข้ารับตำแหน่งแทนอย่างไม่ชอบธรรม พร้อมระบุว่าการปลดครั้งนี้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อชื่อเสียงและเส้นทางอาชีพ เนื่องจากข่าวถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวาง
คดีนี้ได้รับความสนใจจากสาธารณชน เนื่องจากองค์คณะผู้พิพากษาเป็นชุดเดียวกับที่เคยพิพากษาคดี บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ฟ้อง ศ.ดร.พิรงรอง หนึ่งในจำเลย โดยมีคำพิพากษาจำคุก 2 ปีไม่รอลงอาญา อีกทั้งหนึ่งในผู้พิพากษาชุดนี้ ยังเคยพิจารณาคดีควบรวมทรู-ดีแทค ซึ่งถูกยกฟ้องเนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ
การตัดสินในวันที่ 8 เม.ย.68 นี้ จึงเป็นที่จับตาทั้งจากวงการสื่อสาร สังคม และภาคประชาชน ว่าคำพิพากษาจะวางบรรทัดฐานใหม่ให้กับองค์กรอิสระ หรือเขียนบทใหม่ของความรับผิดชอบในแวดวงสื่อสารไทย