'ดีป้า' เร่งดัน พ.ร.บ.เกม เข้า ครม.ภายในเดือน พ.ค.68 ลุยคุมเนื้อหา-ธุรกรรมข้ามชาติ ปิดช่องฟอกเงิน ดันเกมไทยโตแรง รับเศรษฐกิจดิจิทัลเต็มสปีด
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า เปิดเผยว่า (ร่าง) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม พ.ศ. ... เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน พ.ค.68 หรือภายใน 50 วัน หลังผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการเร่งรัดการเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล (ครน.) โดยดีป้ายืนยันว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมเกมออนไลน์ ควบคุมธุรกรรมทางการเงิน และป้องกันปัญหาเนื้อหาไม่เหมาะสมในเกม หาก ครม. เห็นชอบ จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เบื้องต้นคาดว่าจะทันการประชุมสภาฯสมัยสามัญประจำปีนี้ แต่หากไม่ทันอาจต้องเลื่อนไปเป็นการประชุมสภาในสมัยหน้า
ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า เกมออนไลน์ในปัจจุบันมีความซับซ้อนกว่าสื่อบันเทิงรูปแบบเดิม เช่น ภาพยนตร์ เพราะมีการอัปเดตเนื้อหาอย่างต่อเนื่อง การจัดเรตติ้งแบบเดิมจึงไม่ตอบโจทย์ และจำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแล นอกจากนี้ เกมยังเกี่ยวข้องกับระบบชำระเงินข้ามประเทศ ผ่านช่องทางดิจิทัล เช่น บัตรเครดิต e-wallet และแพลตฟอร์มต่างชาติ การไม่มีกฎหมายควบคุมอาจนำไปสู่ปัญหาการฟอกเงิน หรือหลีกเลี่ยงภาษีดิจิทัลในอนาคต
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ประกอบด้วย 3 หมวดหลัก ได้แก่ 1.หมวดการขึ้นทะเบียน บังคับให้ผู้ผลิต ผู้ถือสิทธิ์ ผู้จัดจำหน่าย และแพลตฟอร์มเกมต้องขึ้นทะเบียนกับรัฐ เพื่อให้สามารถกำหนดเรตติ้งเกมอย่างเหมาะสม ตรวจสอบแหล่งที่มา และควบคุมเกมที่แฝงเนื้อหาผิดกฎหมาย เช่น การพนันหรือการล่อลวงให้ซื้อสินค้าในเกมโดยไม่โปร่งใส 2.หมวดการกำกับดูแล ส่งเสริมอำนาจให้หน่วยงานในพื้นที่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่น สามารถตรวจสอบและดำเนินคดีกับการแข่งขันเกมที่เกี่ยวข้องกับการพนัน ทั้งในพื้นที่จริงและบนโลกออนไลน์ โดยใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.การพนัน, กฎหมายไซเบอร์ และกฎหมายเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน และ 3.หมวดการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม เปิดทางให้นักพัฒนาเกมไทยสามารถเข้าสู่ระบบธุรกิจที่ถูกต้อง เช่น การจัดตั้งบริษัท พัฒนาคอนเทนต์ สร้างแพลตฟอร์ม หรือเขียนบทเกม พร้อมรับการสนับสนุนจากรัฐในการต่อยอดผลงานสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ
"การผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้เป็นการควบคุมหรือจำกัดเสรีภาพ แต่เพื่อให้เกิดโครงสร้างการดูแลที่ชัดเจน รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย และลดความเสี่ยงทางสังคมในระยะยาว" ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าว