“ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ให้ความเห็นส่วนตัวว่าประเทศไทยจะเสียโอกาสแน่ ถ้าปี 2568 บ้านเรายังไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรเป็นรูปธรรม ในการสร้างการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อส่งแรงกระเพื่อมวงกว้างระดับเซกเมนต์หรือภาคส่วนเศรษฐกิจหลักของประเทศ
การประยุกต์ใช้ AI ที่จะมีอิมแพคต่อเศรษฐกิจไทยนั้นไม่ใช่แค่การเขียนพร้อมต์หรือการสร้างรูปภาพ แต่ภาครัฐและเอกชนจะต้องประกาศความร่วมมือกันเพื่อหาวิธีการสร้างความสำเร็จทางเศรษฐกิจจากการใช้ AI ในขั้นสูง เนื่องจากที่ผ่านมา การฝึกสอนทักษะ AI ในไทยมักทำแล้วจบไปโดยไม่มีการมองในรายละเอียด หรือลงลึกเป็นเซกเมนต์ รวมถึงขาดการดูแลให้การปรับใช้ทำได้ดี แล้วทำเป็นโมเดล AI ที่สามารถ “ยกไปใช้ได้เลย” ในแต่ละยูสเคส
ในเมื่อการผลักดัน AI สู่ภาคการเกษตรไทยนั้นยังต้องรอขั้นตอนมากมาย เช่นเดียวกับการท่องเที่ยว และอีกหลายเซกเมนต์ที่ต้องผ่านการเจรจาและการเฟ้นหาทุนตามกระบวนการซับซ้อน ดังนั้น ภาคของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SME จึงถูกหยิบขึ้นมาในฐานะเซกเมนต์ที่มีแนวโน้มสดใสในนาทีนี้ ซึ่งล่าสุด ไมโครซอฟท์ได้ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวด้าน AI ในประเทศไทยกับ SME ด้วยการจัดงาน SMEs AI Skills Summit เพื่อสนับสนุนให้ SME ไทยยกระดับการดำเนินงานและสร้างแต้มต่อทางธุรกิจด้วยศักยภาพของ AI อย่าง Microsoft 365 Copilot
พันธมิตรในภาค SME ที่ไมโครซอฟท์ร่วมมือด้วยในรอบนี้ มีทั้งสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์ ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดเห็นด้วยว่า AI จะเป็นโอกาสในการเติบโต และเปิดตลาดใหม่ให้กับ SME ไทยทั้งบนเวทีในประเทศและระดับโลก
***ปฏิบัติการเข็น AI ใส่มือ SME
ธนวัฒน์บอกว่าไมโครซอฟท์นั้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้าน AI อย่างจริงจัง วิสัยทัศน์นี้ทำให้บริษัทตัดสินใจนำเนื้อหาเกี่ยวกับ AI ที่ไมโครซอฟท์มีทั้งระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับสูง มาแปลเป็นภาษาไทย เพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้จากคนไทยด้วยกันเองบนแพลตฟอร์มชื่อ Skills Navigator
“Skills Navigator เป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ รวมคอนเทนต์ AI ของไมโครซอฟท์เป็นภาษาไทย การแปลทำโดยทั้งระบบ AI และคนไทยเพื่อให้สื่อความหมายได้ถูกต้อง เนื้อหาครอบคลุมทั้ง AI ระดับพื้นฐานและระดับสูง รวม 200 คอร์ส เหมาะทั้งครู คนทำงาน และนักพัฒนา
แพลตฟอร์มนี้ถือเป็น ส่วนหนึ่งของเป้าหมายที่ไมโครซอฟท์ตั้งไว้ว่าจะสอนทักษะ AI ให้คนไทย 1 ล้านคน ธนวัฒน์ยอมรับว่าใช้เงินลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มมากพอสมควร งบประมาณไม่ต่ำกว่าหลักล้านเหรียญเพราะต้องปรับทุกอย่างให้เข้ากับท้องถิ่น ผู้สนใจสามารถเข้าเว็บไซต์เพื่อเลือกวิชา AI ที่ต้องการเรียนได้ตามต้องการ โดยงบส่วนหนึ่งเตรียมไว้เพื่อการสื่อสาร และร่วมกับหน่วยงานในภาค SME เพื่อสร้างการรับรู้
หากมองอีกด้าน Skills Navigator เว็บไซต์ที่เปิดให้ทุกคนเข้ามาเรียนรู้ AI ของไมโครซอฟท์นั้นเป็นสิ่งที่ถูกหยิบขึ้นมาชูในระหว่างที่ไมโครซอฟท์ยังหาทางร่วมมือกับหลายภาคส่วนทั้งเอกชนและรัฐ เพื่อร่วมจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้าน AI หรือ "AI Center of Excellence" ของประเทศไทย โดยศูนย์นี้จะทำหน้าที่เป็นแซนด์บ็อกซ์และโครงการนำร่องเฉพาะอุตสาหกรรมในเชิงลึก เพื่อสร้างองค์ความรู้ ถ่ายทอด และนำไปปรับใช้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้เกิดการนำ AI ไปใช้ในวงกว้าง
“มีบางประเทศที่ล้ำหน้า และอยู่ในช่วงปรับใช้แล้ว ไปไกลกว่าขั้นทดลอง เชื่อว่าหาก AI Center of Excellence เกิดขึ้นจริง ก็จะเป็นประโยชน์กับ SME ไทย ด้วย”
สำหรับ SME ไทยซึ่งมีอยู่ประมาณ 3.2 ล้านราย และสร้าง GDP ให้กับประเทศถึง 35% ธนวัฒน์เชื่อว่าหาก AI สามารถดันการเติบโตของเซกเมนต์ SME ได้เพียง 10% ก็จะส่งผลให้ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้น 2 จุดแล้ว ซึ่งแสดงว่า SME จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างพลังการแข่งขันให้กับประเทศไทยต่อไป
***ไทยต้องมี AI Center of Excellence?
ธนวัฒน์ย้ำว่ากำลังอยู่ระหว่างพูดคุยกับพันธมิตรในหลายเซกเมนต์ของไทย เพื่อหาแนวทางและดำเนินการเพิ่มเติมเรื่อง AI Center of Excellence โดยเชื่อว่าภาครัฐจะเข้ามาสนับสนุนอย่างแน่นอน ทั้งในด้านภาษีและด้านอื่นๆ
อุตสาหกรรมที่เป็นตัวเต็งว่าจะได้ประโยชน์จากการจัดตั้ง AI Center of Excellence คือเซกเมนต์อุตสาหกรรมหลักของประเทศ เช่น ภาคการเกษตร ซึ่งใช้พื้นที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศและใช้บุคลากรมากกว่า 40% ของประชากร แต่กลับสร้าง GDP ให้ประเทศเพียง 6% เท่านั้น
ธนวัฒน์ยังมองเห็นโอกาสในการใช้ AI เพิ่มมูลค่าในภาคการท่องเที่ยวไทย เช่น การสร้างดิจิทัลทวินร่วมกับ AI เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมวัดพระแก้วในมือถือก่อนมาเยี่ยมชมสถานที่จริง หรือแม้แต่ "ผัดไทย AI" ที่จะช่วยเปลี่ยนประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งแนวคิดเหล่านี้จำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนในไทย ทั้งบริษัทเทคโนโลยี ภาครัฐ และภาคเอกชน
“ผมเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์มหาศาล เนื่องจากเห็นความแตกต่างชัดเจนระหว่างผู้ที่ใช้และไม่ใช้ AI ซึ่งองค์กรที่สามารถใช้ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพจะมีโอกาสเติบโตมากกว่า” ธนวัฒน์กล่าว “ตอนนี้ทุกภาคส่วนพยายามเต็มที่ แต่เราก็ต้องพยายามเอาชนะขั้นตอนมากมายที่ต้องผ่านไปให้ได้ และมองไปที่แรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องโปร่งใส เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญ และต้องใช้เวลา แต่ถ้าความเห็นส่วนตัวของผม ถ้าไทยยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมในการสร้างการประยุกต์ใช้ และสร้างแรงกระเพื่อมในระดับอุตาหกรรมภายในปีนี้ ผมคิดว่าเราจะเสียโอกาส”
ศ.ดร.วิเชียร เปรมชัยสวัสดิ์ รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เชื่อว่า การสร้างโมเดล AI ที่ภาคธุรกิจสามารถยกไปใช้ได้เลยในแต่ละยูสเคสนั้นจะมีอิมแพคสูงเรื่องการลงทุน เนื่องจากธนาคารจะสนับสนุนง่ายขึ้นหากผู้ประกอบการสามารถเลือกเคส AI ไปปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองได้บนแนวทางที่ชัดเจน ซึ่งจะนำไปสู่อัตราความสำเร็จในการปรับใช้ AI ได้สูงขึ้น
ดังนั้น ไม่ใช่แค่ SME แต่ภารกิจเข็น AI ขึ้นภูเขาเซกเมนต์หลักของไทย จึงควรเป็นรูปธรรมได้แล้วในปี 2568.