ปักหมุด 8 เม.ย.68 ดีอีเข็น 2 พ.ร.ก.คุมคริปโท-เชือดแพลตฟอร์มปล่อยลิงก์ปลอม บังคับใช้ทันทีไม่ต้องรอราชกิจจานุเบกษา หวังทันสกัดภัยไซเบอร์ก่อนสงกรานต์
เมื่อวันที่ 4 เม.ย.68 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวงดีอี (Top Executives) ครั้งที่ 3/2568 ว่า รัฐบาลเตรียมเสนอร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับสำคัญเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 8 เม.ย.68 ได้แก่ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ที่แก้ไขเพิ่มเติม และ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล โดยทั้ง 2 ฉบับผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และมีการปรับปรุงรายละเอียดร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เหมาะสมกับภารกิจของแต่ละหน่วยงาน
สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.ก.ที่เสนอเข้าที่ประชุม แยกภารกิจตามลักษณะของปัญหา โดย พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล จะมุ่งควบคุมธุรกรรม P2P (peer-to-peer) ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี โดยให้อำนาจสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการกำกับดูแล รวมถึงการจัดการกับแพลตฟอร์มต่างชาติที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งานในไทย เช่น ใช้ภาษาไทยหรือบัญชีธนาคารไทย หากไม่ขออนุญาตจะมีโทษตามกฎหมาย โดย ก.ล.ต. จะเป็นหน่วยงานกำกับดูแล และตรวจสอบ หากผิดกฎหมาย จะเสนอกลับมาให้อำนาจกระทรวงดีอี ปิดกั้นการเข้าถึงแพลตฟอร์มดังกล่าวทันที
ในส่วนของ พ.ร.ก.ปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ จะเน้นการรับมืออาชญากรรมไซเบอร์ โดยเฉพาะการหลอกลวงผ่านลิงก์และระบบออนไลน์ต่างๆ ทั้งนี้ ได้กำหนดให้ผู้ให้บริการ เช่น ธนาคาร ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) และแพลตฟอร์มโซเชียล ต้องมีมาตรการควบคุม หากละเลยจนเกิดความเสียหายจะต้องร่วมรับผิดชอบ พร้อมให้อำนาจสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในการคืนเงินเหยื่อได้ หากสามารถพิสูจน์เส้นทางการเงินได้ชัดเจน โดยไม่ต้องรอคำสั่งศาลเหมือนในอดีต
"หาก ครม.เห็นชอบแล้วในกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ทันที ไม่ต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา 30 วัน เพื่อให้สามารถรับมือภัยคุกคามทางดิจิทัลได้อย่างทันท่วงที โดยคาดว่าจะบังคับใช้ก่อนเทศกาลสงกรานต์นี้ ทั้ง 2 ร่างกฎหมายนี้มีเป้าหมายชัดเจนในการอุดช่องโหว่กฎหมายเดิม เพิ่มอำนาจให้หน่วยงานกำกับดูแล และปกป้องประชาชนจากภัยออนไลน์" นายประเสริฐ กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการหารือ 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.เตรียมจัดงาน The 3rd Global Forum on the Ethics of AI 2025 ภายใต้ธีม Bangkok AI Week 2025 ช่วง 23-27 มิ.ย.68 โดยไทยเป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) และผลักดันจัดตั้งศูนย์ AI Ethical Governance Practice Center ระดับภูมิภาคไทย-ยูเนสโก 2.เปิดผลสำรวจพฤติกรรมสูบบุหรี่-ดื่มแอลกอฮอล์ ปี 67 พบคนไทยสูบบุหรี่กว่า 9.8 ล้านคน ดื่มแอลกอฮอล์กว่า 20.9 ล้านคน โดยกลุ่มอายุ 25-44 ปีมีพฤติกรรมสูงสุดทั้ง 2 ด้าน 3.ขับเคลื่อน Digital Literacy ผ่านการอบรมประชาชนกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศเกินเป้าไปกว่า 124% ครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัดและกรุงเทพฯ และ 4.ถกผลกระทบมาตรการภาษีสหรัฐฯ ต่อเศรษฐกิจดิจิทัลไทย โดยเฉพาะ Digital Services Tax ที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์ม OTT พร้อมมอบหมายหน่วยงานศึกษาแนวทางรับมือ