กสทช.ลุยดันระบบเตือนภัยทุกช่องทาง! Mux ตัดเข้าทีวีทันที - Apple ปลดล็อก iOS ใช้ Cell Broadcast เต็มระบบ ภัยมาเตือนทันทีทุกเครือข่าย
เมื่อวันที่ 2 เม.ย.68 ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ เปิดเผยว่าสำนักงาน กสทช. เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 3 เม.ย.68 เพื่อหารือการพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning Systems) ผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (Mux) ให้สามารถแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านช่องทีวีดิจิทัล และสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) เพื่อให้ประชาชนรับรู้เหตุการณ์ฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุม
ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจะช่วยเสริมการแจ้งเตือนผ่านระบบ Cell Broadcast ที่ส่งข้อความ SMS ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการควบคู่กัน โดยระบบ Mux จะสามารถตัดเข้ารายการเพื่อออกอากาศประกาศเตือนภัยได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง หรือข้อความวิ่งบนหน้าจอ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กสทช. เคยทดลองระบบนี้กับ ททบ.5 และไทยพีบีเอส ขณะเดียวกัน ยังมีแผนจัดตั้งโทรทัศน์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ผ่านระบบทีวีดิจิทัล ช่อง 1 ซึ่งที่ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ก.ย.67 ให้ดำเนินการควบคู่กับระบบ Cell Broadcast โดยจะนำข้อเสนอกลับมาพิจารณาอีกครั้งในการประชุมครั้งนี้
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการใช้ระบบเตือนภัย Cell Broadcast ล่าสุด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ส่งหนังสือถึงบริษัท Apple ขอให้ปลดล็อกการใช้งานระบบดังกล่าวบนอุปกรณ์ iOS เพื่อรองรับการส่งข้อความเตือนภัยฉุกเฉิน ซึ่งทาง Apple ได้ตอบรับอย่างเป็นทางการแล้ว พร้อมแจ้งว่าจะดำเนินการเบื้องต้นภายใน 5 วัน และสามารถปลดล็อกระบบได้ภายใน 2 สัปดาห์ พร้อมส่งอัปเดตให้ผู้ใช้งาน เมื่อปลดล็อกเรียบร้อย ระบบ Cell Broadcast จะสามารถใช้งานได้ทั้งในอุปกรณ์ iOS และ Android โดยจะรองรับทั้งเครือข่าย 5G และ 4G ทันที ขณะที่เครือข่าย 3G และ 2G ยังคงต้องส่งข้อความแบบ SMS ธรรมดา
ปัจจุบัน ทรูมีผู้ใช้งาน 3G และ 2G อยู่ประมาณ 1 ล้านราย ส่วนเอไอเอสมีอยู่ราว 1.2 ล้านราย อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการยืนยันว่าได้ขยายขีดความสามารถของระบบเดิมให้รองรับการส่งข้อความได้สูงสุด 3 ล้านหมายเลขต่อครั้ง จึงไม่เกิดปัญหาคอขวดในการส่งแจ้งเตือน ขณะเดียวกัน การแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชัน LINE ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ กสทช. กำลังผลักดัน โดยปัจจุบันคนไทยมีบัญชี LINE กว่า 56 ล้านบัญชี แต่มีผู้สมัครใช้บริการ LINE Alert เพียง 200,000 รายเท่านั้น กสทช. จึงขอความร่วมมือจาก LINE ให้เพิ่มการแจ้งเตือนภัยผ่านแบนเนอร์ในแอป เพื่อขยายการเข้าถึงให้มากขึ้น
"SMS ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการแจ้งเตือนภัยพิบัติ แต่เป็นบริการเชิงพาณิชย์ จึงมีความจำเป็นต้องมีแผนสำรองในกรณีฉุกเฉิน เช่น การส่ง SMS ประกอบกับการใช้โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ วิทยุสมัครเล่น และระบบเตือนภัยอื่นๆ ให้พร้อมทำงานตลอด 24 ชั่วโมง รองรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ทันที" นายไตรรัตน๋ กล่าว