xs
xsm
sm
md
lg

ทีวีดิจิทัลฮือ! ค้านประมูลคลื่น 3500 MHz

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทีวีดิจิทัลแย่งซีน! ลุกฮือค้านประมูลคลื่น 3500 MHz หวั่นคนดู 10 ล้านจอดำ ซัด กสทช. เร่งขายคลื่นไร้แผน รัฐเมินอนาคตคอนเทนต์ไทยพังทั้งระบบ

เมื่อวันที่ 1 เม.ย.68 นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเข้ายื่นหนังสือคัดค้านการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz ต่อสำนักงาน กสทช. หลังพบว่า กสทช. มีแนวโน้มนำคลื่นดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการประมูลเพื่อใช้ในกิจการโทรคมนาคม โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบการรับชมทีวีผ่านดาวเทียม ซึ่งขณะนี้มีประชาชนกว่าร้อยละ 60-70% รับชมรายการผ่านคลื่นนี้

คลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz เป็นคลื่นสำคัญที่ช่วยประคองอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลให้อยู่รอดหลังจากประสบความล้มเหลวในระบบภาคพื้นดิน ซึ่งแม้จะลงทุนไปมหาศาลในช่วงการประมูลคลื่นดิจิทัลเมื่อหลายปีก่อน แต่ระบบการกระจายสัญญาณภาคพื้นดินไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างแท้จริง ทำให้ต้องพึ่งพาการออกอากาศผ่านดาวเทียมโดยมีการเรียงช่อง เพื่อไม่ให้ผู้ชมต้องจอดำ

"หาก กสทช. เดินหน้าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz ในขณะที่ยังไม่มีแผนรองรับหรือแพลตฟอร์มใหม่ที่พร้อมใช้งาน อาจส่งผลให้ผู้ชมราว 10 ล้านคน ไม่สามารถรับชมทีวีดิจิทัลได้ตามปกติ และจะสร้างความเสียหายต่อเนื่องทั้งในมิติธุรกิจ การจ้างงาน และสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร" นายสุภาพ กล่าว

นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz คือ ท่อหายใจสุดท้าย ของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลที่เหลือรอดจากการดิสรัปชั่นของเทคโนโลยีและการผูกขาดแพลตฟอร์มสื่อใหม่ จึงตั้งคำถามถึงความเร่งรีบของ กสทช. ว่าเกิดจากความจำเป็นจริงหรือไม่ ขณะที่ฝั่งกิจการโทรคมนาคมก็ไม่ได้แสดงความประสงค์เร่งใช้คลื่นความถี่นี้อย่างชัดเจน

"เรียกร้องให้ กสทช. ทบทวนแผนประมูลคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz โดยควรรักษาคลื่นส่วนนี้ไว้สำหรับกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ตราบใดที่ยังไม่มีแผนรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบใหม่ และเสนอให้ประมูลเฉพาะคลื่นที่กำลังจะหมดอายุเท่านั้น ไม่ใช่นำคลื่นทุกย่านเข้าสู่กระบวนการประมูลโดยไร้เหตุผลและไม่ฟังเสียงประชาชน

อีกทั้ง กสทช. ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า เมื่อสัมปทานคลื่นเดิมหมดลงในอีก 4 ปีข้างหน้า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ผู้ประกอบการบางรายถึงขั้นยื่นคำปรึกษาด้านกฎหมายต่อผู้เชี่ยวชาญ เช่น นายวิษณุ เครืองาม เพื่อให้ตีความทางกฎหมายที่ระบุถึงสิทธิในการประมูลคลื่น ซึ่งควรเป็นไปอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม" นายไพบูลย์ กล่าว

ขณะเดียวกัน ตั้งคำถามถึงรัฐบาลเช่นกันว่า มีบทบาทใดในการดูแลและส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิงไทย ในฐานะซอฟต์พาวเวอร์ที่ควรได้รับการสนับสนุน ไม่ใช่ถูกละเลยหรือปล่อยให้แข่งขันกับแพลตฟอร์มต่างชาติอย่างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะในยุคที่คอนเทนต์ไทยมีศักยภาพในการส่งออกและเผยแพร่ไปยังระดับสากล

"ทีวีดิจิทัลแม้จะเผชิญวิบากกรรมตลอด 11 ปีที่ผ่านมา แต่ยังมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของอุตสาหกรรม เรียกร้องให้รัฐและ กสทช. มีคำตอบที่ชัดเจนว่า จะดูแลความอยู่รอดของอุตสาหกรรมนี้อย่างไร ก่อนที่จะขยับคลื่นความถี่ใดออกไป โดยเฉพาะคลื่นที่ยังเป็นสมบัติสำคัญต่อการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน" นายไพบูลย์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น