xs
xsm
sm
md
lg

สภาผู้บริโภคเดือด! เบรกประมูลคลื่นผูกขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาองค์กรของผู้บริโภค จี้ เบรกประมูลคลื่นแบบเทกระจาด หวั่นผูกขาด-ประชาชนแบกภาระ 'NT' เสี่ยงถูกกลืน รัฐยังไร้แผนสำรอง ชงดันเป็นวาระแห่งชาติ

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยระหว่างเข้ายื่นหนังสือต่อ นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สายงานกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ในการเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 และ 26 GHz ครั้งที่ 2 ว่า

สภาองค์กรของผู้บริโภค กังวลต่อการดำเนินการของ กสทช. ในการประมูลแถบคลื่นความถี่ โดยเฉพาะคลื่นความถี่ย่าน 850 MHz ที่ยังไม่มีผู้ประมูลในรอบก่อน และใบอนุญาตของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT กำลังจะหมดอายุในเดือน ส.ค.68 รวมถึงการหยิบคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz ซึ่งไม่เคยถูกนำมาประมูลมาก่อนเข้าสู่กระบวนการ ทำให้ไม่มีหลักประกันว่า ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการประมูลรอบใหม่นี้

การประมูลอาจนำไปสู่การผูกขาด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดปัจจุบันเหลือเพียง 2 รายหลัก คือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ True และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ซึ่งอาจกระทบต่อคุณภาพการให้บริการ และอัตราค่าบริการที่เป็นธรรมสำหรับประชาชน ขณะเดียวกัน ตั้งข้อสังเกตว่า กสทช. ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะดูแลผู้ใช้งานคลื่นของ NT หลังหมดอายุใบอนุญาตในเดือน ส.ค.68 อย่างไร

"หากไม่มีแผนสำรองอย่างเป็นระบบ อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางเลือกของประชาชน และความมั่นคงของภารกิจสาธารณะระยะยาว ดังนั้น เรื่องนี้จึงไม่ใช่เพียงหน้าที่ของ กสทช.เท่านั้น แต่รัฐบาลต้องเข้ามาร่วมกำหนดทิศทางอย่างชัดเจน สภาองค์กรของผู้บริโภค จะเดินหน้ายื่นหนังสือต่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในเดือน พ.ค.68 เพื่อเสนอให้ปัญหา NT เป็นวาระแห่งชาติ แม้ NT จะเป็นรัฐวิสาหกิจที่อาจแข่งขันในตลาดไม่ได้เทียบเท่าเอกชน แต่คลื่นที่ถือครองไม่ควรถูกดูดกลืนโดยตลาดอย่างไม่ยั้งคิด เราต้องวางแผนอย่างมีวิสัยทัศน์ ไม่ใช่ตัดอนาคตรัฐวิสาหกิจทิ้งตั้งแต่ยังไม่ได้หาทางออก" น.ส.สุภิญญา กล่าว

ทั้งนี้ ยังเสนอให้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธรณะ สำหรับผู้ประกอบการ MVNO รายเล็กและรายใหม่ เพื่อสะท้อนปัญหาและอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดที่ขณะนี้เหลือผู้เล่นรายใหญ่เพียง 2 ราย ซึ่งไม่ส่งเสริมการแข่งขันเสรี และเรียกร้องให้ กสทช. จัดทำแผนบริหารจัดการคลื่นความถี่ที่ชัดเจน โดยเฉพาะต่อคลื่น 3500 MHz ที่อาจกระทบโครงข่าย C-Band ของทีวีดิจิทัลหากฟรีทีวีภาคพื้นดินหายไป ประชาชนจะไม่มีทางเลือก และทุกอย่างจะต้องผ่านโครงข่ายโทรคมนาคมเชิงพาณิชย์ที่ไม่ใช่ของรัฐ ซึ่งไม่ฟรี และไม่ทั่วถึง

"เราไม่ได้คัดค้านการจัดสรรคลื่น แต่เราคัดค้านความเสี่ยงที่ไม่มีแผนรองรับ ถ้า กสทช.และรัฐบาลไม่เดินเกมอย่างรอบคอบ สังคมอาจต้องจ่ายราคาแพงกว่าที่คิด" น.ส.สุภิญญา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น