วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC)เปิดตัว “AI Copter” ผู้ช่วยส่วนตัวของนักศึกษา ให้คำปรึกษาด้านการเรียนตลอด 24 ชั่วโมง โดยระบบนี้ได้รับการพัฒนาต่อยอดจากเทคโนโลยี Google Gemini คาดว่าจะช่วยลดภาระงานบุคลากร และสนับสนุนการเติบโตของจำนวนนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจุฬธิดา โฉมฉาย คณบดี วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) เปิดเผยว่า MUIC ได้เปิดตัว “AI Copter” ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ออกแบบมาเพื่อยกระดับประสบการณ์การเรียนรู้และการให้บริการแก่นักศึกษา
โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้คำแนะนำทางวิชาการ เช่น การวิเคราะห์และเสนอแนะรายวิชาที่เหมาะสม การเลือกวิชาโท (Minor) และโปรแกรมประกาศนียบัตร (Certificate Programs) ให้สอดคล้องกับความสนใจและเป้าหมายในอนาคตของแต่ละบุคคล รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียน
ระบบ AI Copter พัฒนาบนพื้นฐานของ Google Gemini และได้รับการปรับแต่งให้เหมาะสมกับบริบทของวิทยาลัยฯ โดยใช้เทคนิค RAG (Retrieval-Augmented Generation) ร่วมกับการปรับพารามิเตอร์ (Fine-Tuning) เพื่อให้สามารถตอบคำถามได้อย่างแม่นยำ ตรงประเด็น และสอดคล้องกับความต้องการของนักศึกษา โครงการนี้ใช้ระยะเวลาในการพัฒนาประมาณ 12 เดือน ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของวงการศึกษาของไทยในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ
การเปิดตัว AI Copter สอดคล้องกับเทรนด์การนำ AI มาใช้ในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก ประโยชน์ที่นักศึกษาจะได้รับจาก AI Copter ประกอบไปด้วย การช่วยเหลือด้านวิชาการแบบเรียลไทม์ ให้นักศึกษาสามารถถามเกี่ยวกับหลักสูตร ตารางเรียน และแนวทางการศึกษาได้ทันที ซึ่งจุดเด่นและไฮไลท์ของ 'AI Copter' มีความโดดเด่นในด้านการให้บริการที่ครอบคลุมและปรับให้เหมาะสมกับความต้องการเฉพาะของนักศึกษาแต่ละคน ดังนี้
- การให้คำแนะนำทางวิชาการ ระบบสามารถช่วยนักศึกษาในการเลือกวิชาเรียน วิชาโท (Minor) และโปรแกรมประกาศนียบัตร (Certificate) ที่เหมาะสมกับความสนใจและเป้าหมายอาชีพของแต่ละบุคคล
- การให้คำปรึกษาด้านอาชีพ AI Copter สามารถวิเคราะห์ข้อมูลความสนใจและผลการเรียนของนักศึกษา เพื่อแนะนำเส้นทางอาชีพที่เหมาะสม
- การสนับสนุนโอกาสแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ ระบบให้ข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับโครงการแลกเปลี่ยน (Exchange Programs) และโอกาสการศึกษาในต่างประเทศ โดย MUIC มีเครือข่ายมหาวิทยาลัยพันธมิตรกว่า 140 แห่งทั่วโลก
- การบริการข้อมูลที่รวดเร็ว AI Copter สามารถแจ้งเตือนกำหนดการสำคัญ ข่าวสารจากมหาวิทยาลัย และข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ
สำหรับแผนการใช้งาน AI Copter แบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 (ต้นปี 2568) เริ่มทดลองใช้งาน AI ในบริการเฉพาะด้าน เช่น การแนะนำด้านวิชาการ การลงทะเบียนเรียน และข้อมูลกิจกรรมนักศึกษา ตามด้วย ระยะที่ 2 (กลางปี 2568) ขยายการให้บริการ AI ในด้านการแนะแนวอาชีพ การฝึกงาน และโอกาสศึกษาต่อต่างประเทศ และ ระยะที่ 3 (ต้นปี 2569) พัฒนา AI ให้สามารถให้บริการเชิงโต้ตอบแบบเรียลไทม์ และนำไปใช้กับการจัดการหลักสูตรของวิทยาลัยฯ
คาดว่าในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า จะสามารถประหยัดงบประมาณกว่า 5 - 10 ล้านบาท จากการลดภาระงานของเจ้าหน้าที่และอาจารย์ที่ปรึกษาในด้านการให้คำปรึกษาเบื้องต้น ตลอดจนลดความจำเป็นในการเพิ่มจำนวนบุคลากรแนะแนวการศึกษา พร้อมทั้งยกระดับประสิทธิภาพงานบริการนักศึกษาด้วยการนำ AI เข้ามาเป็นผู้ช่วย