กสทช.ยอมถอย! หั่นราคาคลื่นสู้เอกชนโวยแพงจัด แต่บอร์ดบางรายฉะถูกเกิน ทำเกมประมูลสะเทือน ส่อเลื่อนเคาะราคาเป็นปลาย พ.ค.-มิ.ย.68 แทน
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช. เตรียมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอีกครั้ง สำหรับ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz หลังจากเคยเปิดรับฟังความเห็นไปแล้วเมื่อ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา และที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 18 มี.ค.68 มีมติให้เปิดรับฟังใหม่ภายใน 7 วัน
การเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะรอบใหม่นี้ มีไฮไลต์อยู่ที่การปรับราคาตั้งต้น ของบางย่านความถี่ในการประมูล หลังถูกเสียงวิจารณ์จากภาคเอกชนว่าราคาสูงเกินไปเมื่อเทียบกับภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่กรรมการบางรายกลับมองว่าราคาถูกเกินควร จึงต้องทบทวนให้สมดุล
สำหรับราคาตั้งต้นเดิมที่เคยใช้ก่อนหน้านี้ เช่น คลื่นความถี่ย่าน 850 MHz อยู่ที่ 7,739.04 ล้านบาท, คลื่นความถี่ย่าน 1500 MHz อยู่ที่ 1,057.49 ล้านบาท, คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz อยู่ที่ 7,282.15 ล้านบาท, คลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz (FDD) อยู่ที่ 3,970.32 ล้านบาท, คลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz (TDD) อยู่ที่ 580.99 ล้านบาท, คลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz อยู่ที่ 1,961.08 ล้านบาท และคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz อยู่ที่ 423 ล้านบาท
ส่วนราคาใหม่ แนวทางที่ 1 ของสำนักงาน กสทช. เสนอราคาลดลงในหลายคลื่น เช่น
- คลื่นความถี่ย่าน 850 MHz เหลือ 7,358.60 ล้านบาท ลดลง 380.44 ล้านบาท
- คลื่นความถี่ย่าน 1500 MHz เหลือ 969.03 ล้านบาท ลดลง 88.46 ล้านบาท
- คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เหลือ 4,793.19 ล้านบาท ลดลง 2,488.96 ล้านบาท แนวทางที่ 2 อยู่ที่ 3,617.37 ล้านบาท และแนวทางที่ 3 พุ่งสูงถึง 12,418.06 ล้านบาท
- คลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz (FDD) แนวทางที่ 1 อยู่ที่ 3,322.82 ล้านบาท แนวทางที่ 2 อยู่ที่ 3,180.67 ล้านบาท แนวทางที่ 3 ขยับขึ้นไปที่ 4,611.42 ล้านบาท
- คลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz (TDD) ทั้ง 3 แนวทางอยู่ที่ราคาเดียวกันคือ 449.04 ล้านบาท ลดลงจากเดิม 131.95 ล้านบาท
- คลื่นความถี่ย่าน 26 GHz คงราคาเดิม 423 ล้านบาท
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยังมีการหยิบคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz มาหารือกับภาคเอกชนว่า ควรนำออกประมูลด้วยหรือไม่ และควรใช้แนวทางใด ขณะที่ เงื่อนไขอื่นๆ เช่น การจัดกลุ่มคลื่นความถี่ย่าน การกำหนดราคาขั้นต่ำ การแบ่งชำระค่าประมูล ก็เป็นประเด็นที่เตรียมหาข้อสรุปร่วมกัน อาทิ จากเดิมจ่าย 50% ปีแรก แล้วแบ่งจ่าย 25% ในปีที่ 3 และปีที่ 4 อาจปรับเป็นแบ่งจ่ายปีละ 25% นาน 4 ปี หรือยืดหยุ่นให้ผ่อนได้ 10 ปี งวดละ 10%
ทั้งนี้ หลังจบการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ สำนักงาน กสทช. จะรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอที่ประชุม กสทช.ต่อไป และอาจต้องขยับวันจัดประมูลออกไปจากเดิมวันที่ 17-18 พ.ค.68 เป็นช่วงปลายเดือน พ.ค.ถึงต้นเดือน มิ.ย.68 แทน