ประมูลคลื่นป่วน! กสทช.เบรกด่วน สั่งทบทวนราคาขั้นต่ำ-เงื่อนไขจ่ายเงิน ชะลอแผนหลังเสียงค้าน เสี่ยงเอื้อทุนใหญ่ ไร้หลักประกันประโยชน์ประเทศ-ประชาชน
เมื่อวันที่ 26 มี.ค.68 รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. มีมติให้ สำนักงาน กสทช. ไปจัดทำรายละเอียดและเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz โดยมีกำหนดจัดประชาพิจารณ์ในวันที่ 1 เม.ย.68 หลังจากที่ได้ดำเนินการเบื้องต้นเมื่อวันที่ 6 ก.พ.68 ตามที่ที่ประชุม กสทช.ได้มีมติให้มีการรับฟังความคิดเห็นภายในเวลา 7 วัน
จากรายงานของ สำนักงาน กสทช. พบว่า จะแบ่งการกำหนดราคาคลื่นใหม่ตามสมมุติฐานการคำนวณมูลค่าที่แตกต่างกัน เพื่อชี้แจงเหตุผลที่บางย่านความถี่มีราคาเริ่มต้นการประมูลต่ำกว่าครั้งก่อน นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะจัดกลุ่มคลื่นความถี่เป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มคลื่นที่ใบอนุญาตกำลังจะสิ้นสุดกับกลุ่มคลื่นที่ยังไม่เคยถูกนำมาใช้งาน โดยมีกำหนดเดิมว่าการประมูลจะจัดขึ้นในวันที่ 17-18 พ.ค.68 เป็นเวลา 2 วัน แต่มีความเป็นไปได้ว่าจะต้องเลื่อนกำหนดออกไป ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz ที่ถูกนำเสนอเข้ามาในครั้งนี้จะถูกจัดอยู่ในหมวดอื่น โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนเพื่อพิจารณาแนวทางดำเนินงานต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่อาจต้องล่าช้าออกไป หลังที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช.มีมติให้สำนักงาน กสทช.กลับไปทบทวนรายละเอียดเพิ่มเติม โดยเฉพาะประเด็นสำคัญอย่างการจัดกลุ่มคลื่นความถี่ การกำหนดราคาขั้นต่ำ (Reserved Price) ให้มีความเหมาะสม รวมถึงเงื่อนไขการชำระเงิน ที่อาจเปลี่ยนจากเดิมที่ให้จ่าย 50% ในปีแรก 25% ในปีที่ 3 และ 25% สุดท้ายในปีที่ 4 มาเป็นการแบ่งจ่ายเท่ากันปีละ 25% เป็นเวลา 4 ปี หรืออาจยืดระยะออกไปเป็น 10 ปี งวดละ 10% เพื่อบรรเทาภาระผู้ประกอบการ
ในที่ประชุม กสทช. ยังมีคำสั่งให้ สำนักงาน กสทช.กลับไปจัดทำราคาขั้นต่ำของคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz และ 2300 MHz ใหม่ทั้งหมด โดยคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz ที่ประกอบด้วยทั้งแบบ FDD และ TDD รวม 15 ชุดความถี่ มีราคาเริ่มต้นอยู่ระหว่าง 497-3,391 ล้านบาท ขณะที่คลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz มี 7 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 10 MHz ราคาเริ่มต้นที่ 1,675 ล้านบาท ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz หากถูกรวมในการประมูลครั้งนี้ คาดว่าจะมีราคาไม่ต่ำกว่าชุดละ 5,000 ล้านบาท จากจำนวนคลื่นรวมทั้งสิ้น 100 MHz
สำหรับการจัดกลุ่มคลื่นใหม่ มีการเสนอให้แยกออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่กำลังจะสิ้นสุดใบอนุญาตในวันที่ 3 ส.ค.68 ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 850 MHz จำนวน 2x15 MHz, คลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz จำนวน 2x15 MHz และคลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz จำนวน 60 MHz กับกลุ่มคลื่นที่ยังไม่ถูกใช้งาน เช่น คลื่นความถี่ย่าน 1500 MHz และคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz
ขณะเดียวกัน ทางสภาองค์กรของผู้บริโภค โดย น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการนโยบายจากภาคผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) เพื่อขอให้ชะลอการประมูลคลื่นในรอบใหม่นี้ โดยให้เหตุผลว่า ยังไม่มีหลักประกันที่ชัดเจนว่า ประเทศและประชาชนผู้ใช้บริการจะได้รับประโยชน์สูงสุด อีกทั้งสถานการณ์การแข่งขันที่เหลือผู้ประกอบการเพียง 2 รายหลักในตลาด ยังไม่มีการกำหนดแนวทางจำกัดการถือครองคลื่นความถี่อย่างชัดเจน