ผ่าปรากฏการณ์อินฟลูเอนเซอร์ที่สร้างแรงบันดาลใจและรายได้มหาศาล "วิน วิลเลียม" (Win William) ความโด่งดังก้าวกระโดดของอินฟลูเอนเซอร์นักธุรกิจชาวลาวผู้นี้กำลังจุดพลุชื่อเสียงกึกก้องทั่ววงการโซเชียลมีเดีย จนกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของ "พิมรี่พาย" (pimrypie) เจ้าแม่ไลฟ์ขายของที่คนไทยรู้จักดี
จุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์วิน วิลเลียม ถูกมองว่าคล้ายกับพิมรี่พาย คือแจกเงินรัวๆ จนได้ใจคนสมัยใหม่ที่ชื่นชอบการตลาดแบบแจกเงินแบบเห็นได้ชัด ความใจบุญทำให้ "ได้เอนเกจเมนต์สูงมาก" มีคำวิจารณ์ว่าการแจกเงิน 1 ล้าน นำมาสู่การได้รับยอดไลก์-ยอดแชร์ มากกว่าการชื้อพื้นที่สื่อถึง 10 เท่า
สำหรับคลิปไวรัลของวิน วิลเลียม นั้นมีทั้งคลิปที่วินเข้าไปในร้านอาหาร แล้วชวนพนักงานเสิร์ฟให้เล่นเกมง่ายๆ โดยให้เลือกระหว่างเงินสด 10,000 บาท กับกล่องปริศนา ซึ่งเมื่อเปิดกล่องออกมาก็ปรากฏว่าในกล่องมีเงินสดถึง 100,000 บาท พร้อมมอบให้พนักงานคนนั้นไปทันที คลิปนี้สร้างความประทับใจและกลายเป็นไวรัลบนโลกโซเชียลอย่างรวดเร็ว
อินฟลูเอนเซอร์ใจบุญมีอีกบทบาทหนึ่งคือเป็นพ่อค้าออนไลน์ที่มีผู้ติดตามมากที่สุดบน TikTok แซงหน้าพิมรี่พายไปด้วยสถิติ 18.2 ล้านคน (พิมรี่พายมี 13 ล้านคน) ถามว่าวินทำได้อย่างไร? คำตอบอาจเป็นเพราะผู้ชมชอบฟังวิลเลี่ยม ที่พูดเพราะไม่หยาบคาย
***ตัวตนนุ่มนวล กลยุทธ์ใจดี
วิน วิลเลียม เป็นนักธุรกิจหนุ่มชาว สปป.ลาว ที่โด่งดังจากคอนเทนต์แจกเงินหมื่น แจกเงินแสน ทอง และสิ่งของให้ผู้โชคดี
นอกจากแจกเงินหมื่นเงินแสนแล้ว วินยังแจก iPhone, iPad ให้ผู้โชคดีที่ได้พบหน้ากันตามสถานที่ต่างๆ และที่น่าสนใจไปกว่านั้น วินยังเคยเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้ธนาคารชื่อดังแห่งหนึ่งของ สปป.ลาว ร่วมกับสาว "เบลล่า ราณี" อีกด้วย
ไม่ว่าตัวตนของวินจะเป็นอย่างไร แต่หน้ากล้อง วินใช้กลยุทธ์ทำคอนเทนต์สร้างแรงบันดาลใจ เพราะไม่เพียงคลิปแจกเงินและสิ่งของ วินยังทำคลิปเริ่มต้นหารายได้ด้วยเงิน 1 บาท แล้วทำให้กลายเป็นเงินหมื่นภายในเวลาไม่นาน
วิธีการของวินคือไปซื้อผลไม้จากแม่ค้าแถวตลาดจตุจักร แล้วนำไปขายต่อเพื่อทำกำไรทีละเล็กละน้อย พอได้เงินมาส่วนหนึ่งก็เริ่มซื้อของที่ได้กำไรสูงขึ้น ไล่ตั้งแต่น้ำเปล่า เสื้อผ้ามือสอง ภาพวาด งานศิลปะ เสื้อผ้าต่างๆ จนสามารถหาเงินหมื่นได้จริงๆ สร้างแรงบันดาลใจให้คนจำนวนมากว่าหากใครมีความมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ ทุกคนก็สามารถทำทุกอย่างให้สำเร็จได้
จุดแข็งที่ทำให้หนุ่มวินประสบความสำเร็จอย่างสูงบนแพลตฟอร์มโซเชียล มีตั้งแต่การเป็นคนหน้าตาดี พูดจาไพเราะ ภาพลักษณ์มีจิตใจเมตตา ชอบช่วยเหลือผู้อื่น เป็นคนที่ให้กำลังใจคนอื่นได้ดี ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ คลิปที่วินไปหาพนักงานเสิร์ฟชาวพม่า แล้วให้เล่นเกมเลือกระหว่างกล่องปริศนากับของที่อยากได้ ซึ่งเธอเลือกจักรยาน วินจึงไปซื้อจักรยานมาให้ พร้อมกับมอบเงินสด 10,000 บาท และกล่องปริศนาที่เขาถือมาด้วย โดยก่อนจากกัน วินยังถามถึงความฝันของสาวพม่าคนนั้น ซึ่งเธอบอกว่าต้องการเปิดร้านอาหาร และวินก็ให้กำลังใจด้วยความเชื่อมั่น ว่าเธอสามารถทำได้ ซึ่งเป็นกำลังใจชั้นดีให้หญิงสาวคนนั้น
***วิน vs พิมรี่พาย
หากเปรียบเทียบกับพิมรี่พาย เจ้าแม่ไลฟ์ขายของของเมืองไทย ทั้งวินและพิมรี่พายเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่มีคาแร๋กเตอร์แตกต่างกันอย่างชัดเจน พิมรี่พายนั้นเป็นคนที่มีคาแร็กเตอร์จัด พูดจาตรง ฉะฉาน ตรงไปตรงมา มีคำหยาบบ้าง ซึ่งสไตล์นี้ถูกใจลูกค้าสายฮาร์ดคอร์ที่ชื่นชอบความจริงใจแบบไม่มีกั๊ก ส่วนวินนั้นพูดจาดี ไพเราะ นุ่มนวล ออกแนวซอฟท์ๆ มีลูกอ้อน ลูกค้าที่ชอบพ่อค้าแม่ค้าสไตล์นี้ก็จะเทมาหาวิน
ยอดขายถล่มทลายที่แจ้งเกิดวิน คือช่วงวันที่ 9 เดือน 9 หรือ Shopping Day ปี 2024 ซึ่งมีการชอปปิ้งกันอย่างคึกคัก เวลานั้นมีบันทึกว่าพิมรี่พายมีคนดูไลฟ์ตั้งแต่ 30,000-40,000 คน ขณะที่วินมีคนดูไลฟ์อยู่ประมาณ 60,000 ถึงหลักแสนคน
ไม่ว่าไลฟ์ครั้งต่อไปจะเป็นอย่างไร ยอดผู้ติดตามของทั้งคู่บน TikTok ในเวลานี้เริ่มชัดเจน โดยพิมรี่พายมีผู้ติดตาม 13.3 ล้านคน ยอด Likes คือ 241.6 ล้านครั้ง ขณะที่วินมี 18.2 ล้านคน ยอด Likes เบาๆ 371.3 ล้านครั้ง
สำหรับเรื่องยอดขาย แม้ปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่จากข้อมูลที่เคยมีการเปิดเผยในช่วงปี 2022 พิมรี่พายเคยบอกว่ามียอดขายคืนละ 100 ล้านบาท แม้บางช่วงยอดอาจจะตกลงมาเหลือประมาณ 50 ล้านบาท แต่ก็ยังถือว่าขายดีมากๆ ฝั่งหนุ่มวินมีการเปิดเผยยอดขายในช่วงวันคล้ายวันเกิด เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2024 ว่าสามารถทำลายสถิติบนแพลตฟอร์ม TikTok เนื่องจากไลฟ์ขายของไปเพียงแค่ 10 นาที มีออเดอร์จากไลฟ์ของเขาถึง 165,000 ออเดอร์ และมียอดคนดูมากกว่า 200,000 คน ที่สำคัญคือสามารถปิดยอดขายในวันนั้นได้มากกว่า 230 ล้านบาทเลยทีเดียว
***คอนเทนต์เมตตา ใจดีหรือหวังผล?
ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ต่างชาติก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า "คอนเทนต์แห่งความเมตตา" (Kindness Content) ซึ่งเป็นวิดีโอที่ครีเอเตอร์มักช่วยเหลือคนแปลกหน้า ไม่ว่าจะเป็นการมอบเงินสดหรือสิ่งของ อาจเป็นการเริ่มต้นโดยใช้ทุนจากแหล่งอื่น ซึ่งสำหรับสหรัฐฯ สำนักข่าวเอพีรายงานว่าอินฟลูเอนเซอร์บางส่วนเลือกใช้ทุนที่ได้รับจากการระดมทุนผ่านแพลตฟอร์มอย่าง GoFundMe
ตัวอย่างที่โดดเด่นคือ Jimmy Darts หรือชื่อจริง Jimmy Kellogg ผู้มีผู้ติดตามกว่า 12 ล้านคนบน TikTok ซึ่งเขาเริ่มต้นจากการได้รับเงิน 200 ดอลลาร์ทุกคริสต์มาสตั้งแต่เด็ก โดยครึ่งหนึ่งจะเก็บไว้ใช้เอง อีกครึ่งหนึ่งมอบให้คนแปลกหน้า จนปัจจุบัน การทำคอนเทนต์เพื่อการกุศลกลายเป็นงานประจำของหนุ่ม Kellogg ไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม คอนเทนต์ลักษณะนี้กลับกลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคม บางคนชื่นชมความใจดี แต่บางคนมองว่าเป็นการกระทำที่เสแสร้งและแสวงหาผลประโยชน์ ผู้วิจารณ์หลายคนตั้งคำถามถึงจริยธรรมในการบันทึกวิดีโอโดยที่ผู้รับความช่วยเหลือไม่รู้ตัว หรือแม้กระทั่งการใช้กล้องซ่อนเพื่อเก็บภาพ โดยหลังจากช่วยเหลือเสร็จแล้ว ครีเอเตอร์อย่าง Kellogg จะขออนุญาตเผยแพร่วิดีโอ ซึ่งคนส่วนใหญ่ยินดี เพราะผู้แจกเงินนั้นดูเหมือน “ฮีโร่” ในสายตาผู้ชมอยู่แล้ว
***ใช้แพลตฟอร์มหารายได้
เมื่อถามว่ารายได้และกลยุทธ์การสร้างรายได้ของอินฟลูเอนเซอร์บน TikTok เป็นอย่างไร? ด้วยความที่ TikTok ได้กลายเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ดึงดูดผู้ใช้งานนับล้านคนต่อวัน และเปิดโอกาสให้อินฟลูเอนเซอร์รุ่นใหม่ก้าวขึ้นมาสร้างชื่อเสียงและรายได้มหาศาล ดังนั้นจึงมีอินฟลูเอนเซอร์ชั้นนำบน TikTok ที่สามารถทำรายได้ถึงหลักแสนหรือล้านดอลลาร์ต่อปี ขณะเดียวกันรายได้ของครีเอเตอร์บางส่วนก็อยู่ระดับกลางและไม่ได้สูงมาก
จากข้อมูลล่าสุดของ ZipRecruiter รายได้เฉลี่ยของอินฟลูเอนเซอร์บน TikTok อยู่ที่ประมาณ 131,874 เหรียญสหรัฐต่อปี (ประมาณ 4.7 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้อาจทำให้เข้าใจผิดได้ เพราะมีอินฟลูเอนเซอร์ระดับท็อปที่ดันค่าเฉลี่ยให้สูงขึ้นอย่างมาก
รายงานจาก NeoReach เผยว่า: 48% ของอินฟลูเอนเซอร์มีรายได้ต่ำกว่า $15,000 (ประมาณ 540,000 บาท) และมีเพียง 7% มีรายได้มากกว่า 200,000 เหรียญสหรัฐขึ้นไป โดยวิธีการสร้างรายได้บน TikTok มี 4 รูปแบบ ได้แก่ 1.การทำงานร่วมกับแบรนด์ (Brand Partnerships/Sponsored Posts) โดยอินฟลูเอนเซอร์มักได้รับค่าตอบแทนจากการโปรโมตสินค้าผ่านการโพสต์วิดีโอ โดยมีอัตราค่าจ้างตามจำนวนผู้ติดตาม เช่น ผู้ที่มีผู้ติดตาม 1,000-10,000 คน ราคา $20-$150 ต่อโพสต์, ผู้ติดตาม 10,000-50,000 คน ราคา $30-$400 ต่อโพสต์, ผู้ติดตาม 50,000-500,000 คน ราคา $80-$1,650 ต่อโพสต์, ผู้ติดตาม 500,000-1,000,000 คน ราคา $150-$3,500 ต่อโพสต์ และกรณีที่ผู้ติดตามมากกว่า 1,000,000 คนเหมือนหนุ่มวิน คาดว่าจะมีราคา $1,200 ขึ้นไปต่อโพสต์
2.TikTok Creator Fund ก่อนหน้านี้ TikTok เปิดตัว Creator Fund ในปี 2020 เพื่อสนับสนุนครีเอเตอร์ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีผู้ติดตามอย่างน้อย 10,000 คน และมียอดวิวมากกว่า 100,000 ครั้งใน 30 วันที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม รายได้จาก Creator Fund ค่อนข้างน้อย โดยจะได้เพียง $0.02-$0.04 ต่อ 1,000 วิว (ประมาณ 0.7-1.4 บาท) หรือประมาณ $20-$40 ต่อ 1 ล้านวิวเท่านั้น
3.การตลาดแบบพันธมิตร (Affiliate Marketing) ครีเอเตอร์สามารถโปรโมตสินค้าและใส่ลิงก์เพื่อรับค่าคอมมิชชันเมื่อมีคนกดซื้อสินค้าผ่านลิงก์นั้น เช่น การเข้าร่วมกับ Amazon Associates หรือเครือข่ายพันธมิตรอื่นๆ และ 4.TikTok Live Gifts โดยครีเอเตอร์สามารถไลฟ์สดและรับของขวัญดิจิทัลจากผู้ชม ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นเหรียญและแลกเป็นเงินจริงได้ แต่ของขวัญส่วนใหญ่มักมีมูลค่าเพียงไม่กี่เซนต์
ที่สุดแล้ว การเป็นอินฟลูเอนเซอร์บน TikTok อาจเป็นทางลัดสู่ความสำเร็จและชื่อเสียง แต่การสร้างรายได้จริงๆ นั้นต้องอาศัยมากกว่าความสนุก ต้องมีความสม่ำเสมอ ความคิดสร้างสรรค์ และภาพลักษณ์ที่ดี โดยหากต้องการประสบความสำเร็จ อินฟลูเอนเซอร์จำเป็นต้องสะสมช่องทางการสร้างรายได้ที่หลากหลาย และต่อยอดความนิยมให้กลายเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน
เหมือนที่ "วิน วิลเลียม" ต่อยอดจุดเริ่มต้นความดังด้วยการแจกเงิน แล้วใช้ TikTok สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำได้สำเร็จ