'กสทช.' ดันประมูลคลื่น 3500 MHz สภาผู้บริโภครุมค้าน เอื้อค่ายมือถือ? ลุ้นปรับเกณฑ์ประมูล กระทบกรอบเวลา เสี่ยงรัฐจ่ายเยียวยา ถ้าพลาด กสทช.อาจผิดมาตรา 157
ตามที่ที่ประชุม กสทช.เมื่อวันที่ 18 มี.ค.68 มีมติให้สำนักงาน กสทช. กลับไปจัดทำรายละเอียดและเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz การทบทวนดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากยังมีหลายประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม เช่น การจัดกลุ่มคลื่นความถี่ ราคาเริ่มต้นในการประมูล เงื่อนไขการชำระเงิน ตลอดจนผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะและการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอ
โดยสำนักงาน กสทช. ต้องเสนอแนวทางภายใน 7 วัน หากได้ข้อสรุปภายในเดือน เม.ย.68 การประมูลจะเดินหน้าตามกำหนดเดิมในวันที่ 17-18 พ.ค.68 หรือเลื่อนออกไปไม่เกิน 2 สัปดาห์ แต่หากยังไม่มีข้อสรุป อาจล่าช้าโดยไม่มีกำหนด ส่วนจะนำคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz เข้าประมูลครั้งนี้ด้วยหรือไม่ ยังไม่มีความชัดเจน
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม กล่าวว่า การนำคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz ออกมาประมูลร่วมด้วย ทั้งที่ไม่ได้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะก่อนหน้านี้ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ให้บริการมือถือบางรายหรือไม่ ขณะเดียวกัน การที่สภาองค์กรของผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) ถึง 2 ครั้ง (12 และ 18 มี.ค.68) ขอให้ชะลอการประมูล ทบทวนหลักเกณฑ์ และเปิดรับฟังความคิดเห็นใหม่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะแล้ว ทำให้เกิดคำถามถึงบทบาทและวาระที่แท้จริง
"การเร่งให้ประมูลคลื่นความถี่ที่จะใช้งานได้จริงอีก 3 ปีข้างหน้า เป็นการแย่งชิงความได้เปรียบทางธุรกิจ มากกว่าตอบโจทย์ทางเทคนิค ขณะเดียวกัน กสทช.ต้องเร่งจัดการประมูลให้เสร็จสิ้นก่อนใบอนุญาตของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT หมดอายุในวันที่ 3 ส.ค.68 ไม่เช่นนั้นอาจต้องใช้มาตรการเยียวยาขยายเวลาคืนคลื่น ซึ่งขัดต่อคำพิพากษาของศาลที่ระบุว่า การประมูลต้องเกิดขึ้นล่วงหน้า เพื่อป้องกันความเสียหายต่อรัฐ หาก กสทช.ล่าช้าจนเกิดผลกระทบ หน่วยงานต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และอาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 หรือไม่" แหล่งข่าวกล่าว