xs
xsm
sm
md
lg

กม.ใหม่ไปรษณีย์ล็อกคอ 'ขนส่งเอกชน' เข้าระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กฎหมายใหม่ไปรษณีย์เป็นรูปเป็นร่าง! ล็อกคอขนส่งเอกชนเข้าระบบ เขย่าวงการอีคอมเมิร์ซ บังคับขอไลเซนส์ คุมมาตรฐาน ปิดช่องโหว่กฎหมาย 90 ปี ผู้บริโภครอลุ้นความเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 20 มี.ค.68 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) พระราชบัญญัติการประกอบกิจการไปรษณีย์ พ.ศ. … ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยมีนักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วม เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายใหม่ที่มีเป้าหมายยกเครื่องระบบกำกับดูแลกิจการไปรษณีย์และขนส่งพัสดุเอกชน ให้มีมาตรฐานที่เป็นธรรมต่อประชาชน พร้อมตั้งกลไกกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

◉ ปัญหาสะสมจากกฎหมายเก่า

พ.ร.บ.ไปรษณีย์ พ.ศ.2477 ที่ใช้มากว่า 90 ปี ทำโครงสร้างการบริหารงานและข้อกำหนดทางกฎหมายไม่สอดคล้องกับยุคดิจิทัล ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอ กฎหมายฉบับเดิมกำหนดอำนาจให้ "กรมไปรษณีย์โทรเลข" ซึ่งปัจจุบันไม่มีอยู่แล้ว และไม่ได้ครอบคลุมถึงบริษัทขนส่งเอกชนที่เข้ามามีบทบาทอย่างมหาศาลในการขนส่งพัสดุ โดยเฉพาะในยุคอีคอมเมิร์ซเฟื่องฟู กฎหมายเดิมยังคงใช้โทษทางอาญาเป็นหลัก ทั้งปรับและจำคุก แทนที่จะใช้โทษทางปกครองหรือกลไกปรับทางปกติที่เหมาะสมกับการกำกับดูแลธุรกิจยุคใหม่

รัฐบาลจึงเดินหน้าผลักดันร่าง พ.ร.บ.ไปรษณีย์ฉบับใหม่ ที่จะปรับโครงสร้างการกำกับดูแลใหม่ทั้งหมด พร้อมตั้ง "คณะกรรมการกำกับกิจการไปรษณีย์" ขึ้นมาเป็นองค์กรกลาง ทำหน้าที่ออกใบอนุญาต กำกับมาตรฐานบริการ กำหนดโทษทางปกครอง และควบคุมอัตราค่าบริการให้เป็นธรรม โดยมุ่งเน้นให้การบริการไปรษณีย์และขนส่งพัสดุครอบคลุมทุกพื้นที่ ทุกกลุ่มประชากร และมีมาตรฐานที่ชัดเจน

◉ กฎหมายใหม่ ล็อกคอเอกชนเข้าระบบ

ที่ผ่านมา การขนส่งพัสดุกลายเป็นธุรกิจที่เติบโตแบบไร้ขอบเขต มีเอกชนหลายรายเปิดให้บริการโดยใช้มาตรฐานของใครของมัน ทำให้เกิดปัญหาพัสดุเสียหาย สูญหาย บริการล่าช้า หรือแม้แต่กรณีฉ้อโกง ที่ไม่มีหน่วยงานกลางรับผิดชอบ ขณะที่กฎหมายเดิมบังคับใช้แค่กับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เท่านั้น ปล่อยให้บริษัทขนส่งเอกชนรายอื่นดำเนินธุรกิจโดยไม่มีข้อบังคับที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางกฎหมาย

ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ใหม่ บริษัทขนส่งพัสดุเอกชนทั้งหมดจะถูกบังคับให้ขอใบอนุญาตการให้บริการไปรษณีย์และขนส่งพัสดุอย่างถูกต้อง โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ บริการไปรษณีย์ที่รัฐพึงสงวน ครอบคลุมจดหมายที่มีน้ำหนักไม่เกิน 250 กรัม ไปรษณียบัตร และตราไปรษณียากร บริการไปรษณีย์พื้นฐานโดยทั่วถึง ครอบคลุมจดหมายที่มีน้ำหนักเกิน 250 กรัม แต่ไม่เกิน 2 กิโลกรัม และพัสดุที่มีน้ำหนักไม่เกิน 20 กิโลกรัม บริการไปรษณีย์เฉพาะ ครอบคลุมขนส่งพัสดุที่ไม่เข้าข่ายบริการพื้นฐาน โดยเฉพาะพัสดุขนาดใหญ่หรือมีเงื่อนไขพิเศษ นอกจากนี้ จะมีมาตรการบังคับให้ "ทุกบริษัทขนส่งต้องเปิดเผยเงื่อนไขการรับผิดชอบในกรณีเกิดความเสียหายหรือสูญหาย" รวมถึงต้องมีช่องทางร้องเรียนและชดเชยค่าเสียหายให้ผู้บริโภคตามมาตรฐานที่กำหนด

ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังให้ความสำคัญกับการเข้าถึงบริการไปรษณีย์อย่างทั่วถึง โดยรัฐเตรียมจัดตั้ง "กองทุนสนับสนุนบริการไปรษณีย์พื้นฐานเพื่อประโยชน์สาธารณะ" เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนให้บริการที่จำเป็นต้องดำเนินการในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมีผู้ใช้บริการน้อยแต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน เงินทุนดังกล่าวจะได้จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตของบริษัทขนส่งพัสดุเอกชน รวมถึงเงินอุดหนุนจากรัฐบาล

มาตรการลงโทษในร่าง พ.ร.บ.ใหม่ เข้มงวดยิ่งขึ้น สำหรับผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการที่ไม่ได้รับอนุญาต ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน หรือมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค โดยบทลงโทษจะครอบคลุมโทษปรับ โทษพักใช้ใบอนุญาต และโทษเพิกถอนใบอนุญาตถาวร เพื่อป้องกันปัญหาผู้ให้บริการขนส่งพัสดุที่ละเลยมาตรฐานแล้วเปิดบริษัทใหม่หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ

◉ พลิกเกมขนส่ง เขย่าวงการอีคอมเมิร์ซ

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า หลังผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ข้อมูลที่ได้จะถูกส่งต่อให้ที่ปรึกษาและฝ่ายกฎหมายของกระทรวง เพื่อประมวลผลและพิจารณาว่า จะปรับแก้หรือเสนอแนวทางอย่างไรต่อไป คาดว่าภายในปี 2568 นี้ ร่างกฎหมายจะออกจากกระทรวง เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐสภา

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่เพียงแก้ไขกฎหมายเดิม แต่ยังปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยอ้างอิงแนวปฏิบัติจากต่างประเทศ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของไทย ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และอีคอมเมิร์ซของประเทศ โดยเฉพาะแนวทางกำกับดูแลการจัดส่งสินค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการขนส่ง ผู้ค้าออนไลน์ และผู้บริโภค

ปัจจุบัน แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเข้ามามีบทบาทในการกำหนดช่องทางการจัดส่งสินค้า ทำให้ผู้ค้าต้องพึ่งพาผู้ให้บริการที่ตัวเองไม่ได้เลือก ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดโลจิสติกส์ถูกบีบให้เหลือผู้เล่นเพียงไม่กี่ราย และอาจนำไปสู่การผูกขาดด้านราคา ขณะเดียวกัน การที่แพลตฟอร์มมีอำนาจกำหนดการจัดส่ง อาจเข้าข่ายละเมิดหลักการแข่งขันทางการค้า โดยเฉพาะเมื่อมีการกำหนดราคาและค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมที่ผู้บริโภคต้องแบกรับ

อีกหนึ่งประเด็นที่ภาคธุรกิจเป็นกังวล คือ การไหลบ่าของสินค้าจีนที่ได้รับการอุดหนุนค่าขนส่งจากรัฐบาล ทำให้สามารถทำราคาต่ำกว่าสินค้าไทยได้อย่างมหาศาล ยิ่งไปกว่านั้น มีช่องโหว่รูเบ้อเริ่ม ทำให้สินค้าจากจีนสามารถเข้ามาผ่านการจัดส่งแบบเหมาทั้งตู้คอนเทนเนอร์ ลดต้นทุนด้านภาษีและค่าขนส่ง จนสินค้าไทยแข่งขันได้ยาก

ดังนั้น หากไม่มีมาตรการกำกับดูแลที่เข้มงวด กฎหมายควบคุมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไม่สามารถออกมาได้ทันการณ์ อาจทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยเสียเปรียบและถูกครอบงำโดยผู้เล่นรายใหญ่จากต่างประเทศ ขณะที่ผู้บริโภคเองอาจต้องเผชิญกับต้นทุนการซื้อสินค้าที่สูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้








กำลังโหลดความคิดเห็น