Edited - เร้ด แฮท (Red Hat) เผยแผนไตรมาส 2 ปี 68 เดินต่อผลักดันปัญญาประดิษฐ์มาตรฐานเปิด "AI โอเพ่นซอร์ส" ทั่วไทย ต่อยอดวิถีองค์กรใช้ดาต้าตัวเองสอน AI และรัน AI ได้แม้บุคลากรผู้ดูแลข้อมูลไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือมีความรู้ทางด้าน AI มากนัก มั่นใจตลาดเวอร์ชวลไลเซชันไทยยังไปต่อและเติบโตไม่หยุด
สุพรรณี อำนาจมงคล ผู้จัดการประจำประเทศไทย เร้ดแฮท (Red Hat) กล่าวในงานประกาศรายชื่อองค์กรที่ได้รับรางวัล Red Hat APAC Innovation Awards 2024 ประจำประเทศไทย ว่าบริษัทจะมุ่งมั่นผลักดัน AI โอเพ่นซอร์สต่อเนื่องในปี 2568 โดยจากปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปีนี้ บริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนา AI ในรูปแบบโอเพ่นซอร์สอย่างครบวงจร นับตั้งแต่การเปิดตัวโมเดลเกรนิต (Granite) ของไอบีเอ็ม (IBM) ที่องค์กรสามารถใช้ดาต้าตัวเองในการเทรนด์ฝึก AI และรัน AI ให้ทำงานได้ โดยจะมุ่งพัฒนาเครื่องมือให้บุคลากรผู้ดูแลข้อมูลขององค์กรสามารถพัฒนา AI ได้แม้อาจจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือมีความรู้ทางด้าน AI มากนัก เบื้องต้นเชื่อว่าโมเดลและเครื่องมือ AI โอเพ่นซอร์สที่เปิดตัวมาจะทำให้ผู้พัฒนาสามารถที่จะพัฒนา AI ได้ง่ายขึ้น ส่งให้เกิดชุมชนการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
"ในปีที่ผ่านมา เรามีการจัดงานประชุมเพื่อสร้างความตระหนักในแง่ของ AI ให้ลูกค้าไทย เราได้มีโอกาสให้ลูกค้าได้ลองพัฒนา AI เพื่อให้เห็นว่า โอเพ่นซอร์สไม่ใช่เรื่องไกลตัว โดยคำว่าโอเพ่นนั้นเป็นมาตรฐานเปิดของทั้งส่วนแหล่งที่มาของข้อมูล รวมถึงการให้น้ำหนักในการทำเพื่อให้เกิดคำว่า Open AI อย่างแท้จริง"
นอกจากการพูดคุยกับลูกค้าที่จะสร้างโมเดล AI โอเพ่นซอร์ส เร้ด แฮท ชี้ว่าในปีที่ผ่านมา ลูกค้าทั่วโลกพบความท้าทายจากเรื่องค่าใช้จ่ายที่มีผลกระทบมากขึ้น รวมถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการที่บางองค์กรต้องตัดงบประมาณที่เกี่ยวกับนวัตกรรม เพื่อนำเอามาใช้ในเรื่องเวอร์ชวลไลเซชันที่ขึ้นราคา ภาวะนี้ทำให้เร้ด แฮทต้องการเป็นทางเลือกให้ลูกค้า โดยในปีที่ผ่านมาได้มีการเพิ่มความสามารถ ร่วมกับการทำงานร่วมกับลูกค้าหลายรายที่ใช้งานระบบนี้ และจากการทำงานร่วมกับพันธมิตร ปีนี้เร้ด แฮทเชื่อว่าจะยังเห็นแนวโน้มที่ต่อเนื่องในแง่ของการตอบความต้องการที่ยังมีไม่ขาดหาย
สำหรับรายชื่อองค์กรที่ได้รับรางวัล Red Hat APAC Innovation Awards 2024 พบว่าบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (National ITMX Co., Ltd) และธนาคารออมสิน (GSB) ได้รับยกย่องเรื่องการใช้โซลูชันของเร้ดแฮทอย่างสร้างสรรค์ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
สำหรับ Red Hat APAC Innovation Awards นั้นจัดขึ้นเพื่อมอบรางวัลให้แก่ลูกค้าที่นำศักยภาพของเทคโนโลยีโอเพ่นซอร์สไปใช้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและสร้างนวัตกรรม โดยองค์กรที่ได้รับรางวัลเป็นองค์กรที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการเอาชนะความท้าทายสองประการที่คู่กันมา คือ การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่เพิ่มสูงขึ้น และความต้องการทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กันอย่างต่อเนื่อง ในปีนี้มีองค์กร 31 แห่งจาก 11 ประเทศทั่วภูมิภาคได้รับรางวัล สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจในภูมิภาคประสบความสำเร็จในการนำโซลูชันของเร้ดแฮทมาใช้เพื่อก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ และพัฒนาโซลูชันใหม่ที่มีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง
ผลสำรวจ Red Hat 2024 Global Tech Trends พบว่า ธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้ความสำคัญกับการลงทุนสามด้านหลัก ได้แก่ การพัฒนาแอปพลิเคชันคลาวด์-เนทีฟ การยกระดับประสบการณ์ดิจิทัลของผู้ใช้ และการเร่งกระบวนการนำเสนอแอปพลิเคชัน/บริการออกสู่ตลาด ผลสำรวจนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของโซลูชันที่เป็นนวัตกรรมที่ปรากฏอยู่ในประเภทของรางวัลห้าประเภทหลัก ที่สะท้อนถึงเทคโนโลยีโซลูชันและแนวทางที่จะช่วยเสริมศักยภาพให้องค์กรสามารถรับมือกับความท้าทายทางธุรกิจที่เผชิญอยู่ในปัจจุบันได้ ซึ่งประกอบด้วยรางวัลประเภท Digital Transformation (การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล) Hybrid Cloud Infrastructure (โครงสร้างพื้นฐานไฮบริดคลาวด์) Cloud-Native Development (การพัฒนาคลาวด์-เนทีฟ) Automation (ระบบอัตโนมัติ) และ Resilience (ความยืดหยุ่น)
ผู้ชนะคัดเลือกจากองค์กรที่นำโซลูชันของเร้ดแฮทไปใช้และประสบความสำเร็จสูง และแสดงให้เห็นว่าความสำเร็จนั้นเป็นส่วนสำคัญต่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจขององค์กร องค์กรแต่ละแห่งล้วนแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีโอเพ่นซอร์สที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลง เช่น ทำให้เกิดกระบวนการทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพล้ำหน้า เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่งเสริมนวัตกรรม และเสริมสร้างความยืดหยุ่นเมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ เรื่องราวความสำเร็จเหล่านี้ตอกย้ำบทบาทสำคัญของเร้ดแฮทที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้องค์กรทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ให้บรรลุการเติบโตที่เหนือชั้นผ่านการใช้โซลูชันโอเพ่นซอร์สอย่างมีกลยุทธ์
สำหรับประเภทรางวัล Digital Transformation และ Cloud-native Development ถูกประกาศให้เป็นของบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (NITMX) ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินของประเทศ โดยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีการชำระเงินเพื่อให้ระบบการชำระเงินและบริการทางการเงินของประเทศให้เกิดความทั่วถึง (Inclusive) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Efficient) รวมถึงมีเสถียรภาพ (Stability) เพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโตและเพิ่มศักยภาพของประเทศในการแข่งขันระดับสากล
ปัจจุบันการโอนเงินและชำระเงินแบบดิจิทัลกลายเป็นทางเลือกหลักของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ บทบาทของ National ITMX จึงมีความสำคัญในการสนับสนุน Thailand’s National e-Payment Roadmap บริษัทมุ่งมั่นและให้ความสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณธุรกรรม (Scalability) การเชื่อมต่อระบบ (Interoperability) และความปลอดภัย (Security) เพื่อสร้างระบบการเงินที่แข็งแกร่งและไร้รอยต่อ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก
ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วของ PromptPay ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้งานและปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณธุรกรรมจำนวนมาก ความเสถียรของระบบ และการเชื่อมต่อกับระบบอื่นๆ จึงกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง เพื่อรองรับการเติบโตดังกล่าว บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (NITMX) ได้ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินใหม่ ช่วยเสริมสร้างความสามารถของระบบ PromptPay ให้มีความยืดหยุ่น ปลอดภัย และสามารถรองรับปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สถิติล่าสุดชี้ว่า PromptPay มีผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนแล้วจำนวน 80.37 ล้านราย (ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568) และในปีที่ผ่านมา มีการประมวลผลแบบเรียลไทม์มากกว่า 23,000 ล้านรายการต่อปี ผ่านทั้งการโอนเงิน (Credit Transfer) และการสแกน QR Code เพื่อชำระเงิน
ในด้านประเภทรางวัล Digital Transformation และ Cloud-native Development ถูกประกาศให้เป็นของธนาคารออมสิน (GSB) ธนาคารเพื่อสังคมที่มีวัตถุประสงค์หลักสองประการ คือ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างการเข้าถึงแหล่งทุนที่เป็นธรรม แก่ฐานลูกค้ามากกว่า 26 ล้านบัญชีในปัจจุบัน.