xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.สั่งทบทวนแผนประมูลคลื่น หวั่นฮั้ว-ผูกขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสทช.สั่งทบทวนแผนประมูลคลื่น หวั่นฮั้ว-ผูกขาด หลังเหลือแค่ 2 ค่ายมือถือใหญ่ กระทบผู้บริโภค จับตาประชุมบอร์ด 18 มี.ค.68 เคาะแนวทางสุดท้าย ก่อนเดินหน้าประมูล

เมื่อวันที่ 12 มี.ค.68 ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. เห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. ศึกษาแนวทางการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ หลังมีข้อกังวลเรื่องการแข่งขันไม่เป็นธรรม เสี่ยงผูกขาด ฮั้วประมูล เนื่องจากปัจจุบัน เหลือผู้ให้บริการหลักเพียง 2 ราย อาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค โดยแนวทางที่อยู่ระหว่างการพิจารณา คือ ควรเปิดประมูลแบบรวม 6 คลื่นความถี่เหมือนเดิม หรือแยกประมูลเป็นรายคลื่น เพื่อสร้างการแข่งขันที่แท้จริง นอกจากนี้ ยังต้องศึกษาระบบนิเวศคลื่นความถี่ ว่า คลื่นไหนควรอยู่ร่วมกันเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการใช้งานและจูงใจเอกชนเข้าร่วมประมูล

"การพิจารณาแนวทางใหม่นี้คาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. อีกครั้ง อย่างเร็ววันที่ 18 มี.ค.68 ก่อนจะประชุมสรุปมาตรการสุดท้าย เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและรักษาสมดุลการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมไทย ไม่ได้เกี่ยวกับสภาองค์กรของผู้บริโภคมายื่นหนังสือให้ชะลอการประมูล" ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ กล่าว

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่จะยังคงยึดตามไทม์ไลน์เดิม เพื่อให้กระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้น ก่อนใบอนุญาตของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT หมดอายุในวันที่ 3 ส.ค.68 โดยเฉพาะคลื่นใน 3 ย่านหลัก ได้แก่ 850, 1800 และ 2100 MHz ซึ่ง NT ถือครองอยู่ในปัจจุบัน เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจทำให้ผู้ให้บริการต้องรับภาระชดเชย และเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมอนุกรรมการโทรคมนาคม มีมติให้ สำนักงาน กสทช. นำผลการรับฟังความคิดเห็นและแนวทางการแก้ไขเสนอต่อที่ประชุม กสทช. ต่อไป โดยมีข้อเสนอดังนี้ 1.อธิบายเหตุผลในการจัดกลุ่มคลื่นความถี่จาก 3 กลุ่มเป็น 4 กลุ่ม 2.วิเคราะห์ผลกระทบของการรวมกลุ่มคลื่นความถี่ 2100 MHz และ 2300 MHz ในกลุ่มเดียวกันว่ามีผลดีหรือผลเสียต่อการแข่งขัน 3.พิจารณาว่า การเปลี่ยนรูปแบบการประมูลเป็นแบบพร้อมกันทุกกลุ่มจำเป็นต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะใหม่หรือไม่ 

4.อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับปัจจัยลดทอนด้วยตัวคูณ 0.7 ว่าเหมาะสมกับคลื่นแต่ละย่านหรือไม่ 5.ให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อดีข้อเสียของค่าตัวคูณ 1.22 ที่ใช้สะท้อนสภาพการแข่งขัน และพิจารณาว่าควรใช้ค่าดังกล่าวหรือไม่ 6.อธิบายหลักการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ให้ชัดเจน เนื่องจากมีข้อกังวลว่าการกำหนดราคาต่ำเกินไป และ 7.ปรับปรุงเอกสารข้อสรุปการประมูลให้สอดคล้องกับร่างประกาศ และให้กำหนดว่าในกรณีที่มีความขัดแย้งของเนื้อหา ให้ยึดตามร่างประกาศที่ กสทช. ให้ความเห็นชอบ


กำลังโหลดความคิดเห็น