xs
xsm
sm
md
lg

สภาผู้บริโภคค้าน กสทช. ประมูลคลื่น หวั่นค่ามือถือพุ่ง-บริการห่วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประมูล 6 คลื่น 450 MHz เสี่ยงผูกขาด! สภาผู้บริโภคลุยค้าน 'กสทช.' หวั่นค่ามือถือพุ่ง-บริการห่วย จี้ทบทวนทันที ก่อนผู้บริโภคถูกขูดรีดไม่เหลือทางเลือก

การประมูลคลื่นความถี่ 450 MHz ที่เตรียมจัดขึ้นท่ามกลางสภาพตลาดโทรคมนาคมที่เหลือผู้ให้บริการหลักเพียง 2 ราย กำลังถูกตั้งคำถามถึงความเป็นธรรมและผลกระทบต่อการแข่งขัน โดย สภาองค์กรของผู้บริโภค ออกโรงคัดค้าน หวั่นกระทบสิทธิประชาชน เสี่ยงค่าบริการพุ่ง-คุณภาพเครือข่ายถดถอย พร้อมเดินหน้ายื่นหนังสือถึง กสทช. เรียกร้องให้ทบทวนหลักเกณฑ์การประมูล

การประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้ ครอบคลุมย่าน 850 MHz, 1500 MHz, 1800 MHz, 2100 MHz, 2300 MHz และ 26 GHz รวมกัน 450 MHz คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าปัจจุบันมีผู้ให้บริการหลักเหลือเพียง 2 ราย ทำให้โอกาสการแข่งขันแทบไม่มี ส่งผลให้ตลาดโทรคมนาคมอาจขาดแรงกระตุ้นในการพัฒนาและสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม

สภาองค์กรของผู้บริโภค เตรียมเคลื่อนไหว โดยนัดหมายเข้ายื่นหนังสือต่อศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) ในวันที่ 12 มี.ค.68 เวลา 08.30-10.00 น. ที่สำนักงาน กสทช. ถนนพหลโยธิน ซอย 8 เพื่อขอให้ชะลอประกาศหลักเกณฑ์การประมูล นำโดย น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ และนายอิฐบูรณ์ อันวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค

การประมูลถูกกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 17-18 พ.ค.68 โดยมีงบประมาณดำเนินการ 70 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายด้านสถานที่ ระบบเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัย การจ้างที่ปรึกษา และงบประชาสัมพันธ์กว่า 30 ล้านบาทเพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเกี่ยวกับกระบวนการประมูล

ก่อนหน้านี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค เคยแสดงความกังวลถึงผลกระทบจากการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง True-Dtac และ AIS-3BB ที่ถูกคาดหวังว่าจะช่วยลดค่าบริการและยกระดับคุณภาพเครือข่าย แต่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม ค่าบริการปรับตัวสูงขึ้น แพกเกจราคาถูกหายไป ขณะที่คุณภาพการให้บริการยังคงเป็นปัญหา ท่ามกลางข้อเรียกร้องให้ กสทช. มีมาตรการกำกับดูแลที่เข้มงวดขึ้น

สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอแนวทางแก้ปัญหา เช่น การเปิดให้ผู้ให้บริการ MVNO (Mobile Virtual Network Operator) เข้ามาแข่งขัน รวมถึงการสร้างระบบตรวจสอบค่าบริการที่เป็นธรรม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคต้องเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นแต่ได้บริการที่ด้อยลง หากไม่มีการแก้ไข ปัญหาตลาดผูกขาดอาจยิ่งรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าบริการที่สูงขึ้นโดยไม่มีทางเลือก




กำลังโหลดความคิดเห็น