xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง! มิจฉาชีพใช้ดีปเฟก สร้างอินฟลูเอนเซอร์ปลอมหลอกขายอาหารเสริมบน TikTok

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ถือเป็นเรื่องน่าตกใจสำหรับใครที่กำลังหลงใหลในกระแสความงามและสุขภาพบนติ๊กต็อก (TikTok) ล่าสุดพบกลุ่มมิจฉาชีพกำลังใช้เทคโนโลยีดีปเฟก (Deep fake) สร้างอินฟลูเอนเซอร์ปลอมเพื่อขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและความงามที่ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รับรอง ชี้บางบัญชีอินฟลูปลอมเคยมีผู้ติดตามกว่า 245,000 คน สะสมยอดไลค์มากกว่า 4.1 ล้านไลก์

รายงานล่าสุดจาก Media Matters for America เปิดเผยว่ามีบัญชี TikTok หลายบัญชีที่ใช้เทคโนโลยีดีปเฟกสร้างอินฟลูเอนเซอร์กำมะลอและเรื่องราวจอมปลอมเพื่อโปรโมตสินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม โดยบัญชีเหล่านี้ดูเหมือนเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงกัน ใช้รูปแบบเนื้อหาเดียวกัน และมักจะโปรโมตผลิตภัณฑ์เดียวกันที่แทบไม่มีการรับรองทางวิทยาศาสตร์ใดๆ

ภาพจาก mediamatters.org/
ตัวอย่างเช่น บัญชีหนึ่งที่ถูกลบไปแล้ว เคยมีผู้ติดตามกว่า 245,000 คน สะสมยอดไลก์มากกว่า 4.1 ล้านไลก์ โดยโปรโมต "ความลับเพื่อเส้นผมที่สมบูรณ์แบบ" และมีการขายน้ำมัน batana ที่อ้างว่าช่วยเร่งการเติบโตของเส้นผม 

บัญชีนี้ยังมีวิดีโอหลายตอนที่มีอินฟลูเอนเซอร์อ้างตัวว่าเป็นภรรยาของศัลยแพทย์ตกแต่งที่ได้รับค่าตอบแทนสูงสุดในเกาหลี นอกจากนี้ ยังมีการแอบอ้างว่าเป็นอดีตนางแบบ Victoria's Secret และนรีแพทย์ ซึ่งมีการกล่าวอ้างว่าน้ำมันชนิดนี้คือความลับของเส้นผมยาวสลวยของเธอ ทั้งที่ไม่มีงานวิจัยใดๆ มารองรับเลย

ภาพจาก mediamatters.org/

งอินฟลูเอนเซอร์ปลอมหลอกขายอาหารเสริมบน TikTok
จากการวิเคราะห์ของ Media Matters พบว่าความลับที่แท้จริงคือเทคโนโลยีดีปเฟก โดยภาพผู้หญิงในวิดีโอเหล่านี้ถูกสร้างด้วย "AI อินฟลูเอนเซอร์" คนเดียวกัน บนท่าทางเหมือนกัน ในชุดเดียวกัน และปรากฏในหลายวิดีโอที่โปรโมตแบรนด์และผลิตภัณฑ์ต่างๆ

นี่ยังไม่ใช่กลโกงเพียงอย่างเดียว เพราะมิจฉาชีพยังใช้เทรนด์ยอดนิยมอย่าง #storytime ซึ่งมีโพสต์บน TikTok ถึง 36.9 ล้านโพสต์ เพื่อทำการตลาดผลิตภัณฑ์ด้วย

ภาพจาก mediamatters.org/
ยังมีข้อความจากบัญชีหนึ่งที่ถูกเน้นย้ำในรายงาน Media Matters ระบุว่า "ผมกับภรรยาพยายามมีลูกมา 3 ปีหลังแต่งงานแต่ไม่สำเร็จ ผมรู้สึกผิด หมดหนทาง และอับอายที่ไม่สามารถมอบครอบครัวที่เราใฝ่ฝันให้เธอได้" ซึ่งเนื้อหาที่แสดงต่อจากการต่อสู้ของคู่สามีภรรยานี้ คือการวินิจฉัยโรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) ซึ่งในที่สุด วิดีโอเหล่านี้อาจสร้างความรู้สึกร่วมกับผู้ชมจำนวนมาก เพราะ PCOS เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของภาวะมีบุตรยาก ส่งผลกระทบกับผู้หญิงประมาณ 1 ใน 10 คนที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์

"ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือเธอ ผมพบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนี้บนอเมซอน ซึ่งมีคนนับพันสาบานว่าได้ผล" สไลด์สุดท้ายระบุ "เธอเริ่มรับประทานมัน และเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่รอบเดือนของเธอกลับมาสม่ำเสมอ—พวกเรามีความหวังอีกครั้ง" และแน่นอน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ว่านี้มีลิงก์อยู่พร้อมให้คลิกซื้อทันที

ภาพจาก mediamatters.org/
ไม่เพียงผู้หญิงที่มีภาวะ PCOS ซึ่งมักตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงที่สัญญาจะรักษาด้วยยาปาฏิหาริย์หรืออาหารเสริมที่น่าสงสัย แต่กลุ่มนี้ไม่ใช่เป้าหมายเพียงกลุ่มเดียว โดยโอลิเวีย ลิตเติล (Olivia Little) นักวิจัยสืบสวนอาวุโสของ Media Matters เชื่อว่าไม่ว่าใครหรืออะไรก็ตามที่สร้างบัญชีเหล่านี้ กำลังพยายามหาประโยชน์จากความคลั่งไคล้เรื่องความเป็นอยู่ที่ดีบนอินเทอร์เน็ต

ที่สุดแล้ว ในเมื่อเทคโนโลยีดีปเฟกมีความซับซ้อนมากขึ้น ผู้บริโภคจึงต้องระมัดระวังและสงสัยให้มากขึ้นกับสิ่งที่กำลังถูกวางขายบนโลกออนไลน์ เรียกว่าก่อนจะคลิกซื้อผลิตภัณฑ์ใดๆ โปรดตรวจสอบให้ดี


กำลังโหลดความคิดเห็น