สื่อต่างประเทศรายงานพบกรณีผู้ป่วยอาการเสพติดเทคโนโลยีมีลักษณะเหมือนติดเฮโรอีน ชี้อาการรุนแรงมาเต็มไม่ต่างจากผู้ติดยาเสพติดร้ายแรง ถือเป็นปรากฏการณ์สะท้อนผลกระทบน่าวิตกของการใช้เทคโนโลยีที่เกินขอบเขต ชูเคสน่าตกใจคือผู้ป่วยรายหนึ่งใช้เวลาดู YouTube นานถึง 15-17 ชั่วโมงต่อวัน
ลี เฟอร์นันเดส (Lee Fernandes) ผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดการเสพติดวัย 48 ปี จากองค์กร UKAT ผู้อาศัยในลอนดอน เผยว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยที่ติดโทรศัพท์มือถือ เทคโนโลยี และโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยกรณีที่น่าตกใจที่สุดคือผู้ป่วยรายหนึ่งใช้เวลาดู YouTube นานถึง 15-17 ชั่วโมงต่อวัน จากการรักษาพบว่าการติดเทคโนโลยีเริ่มต้นอย่างแนบเนียนจากการใช้งานเพื่อความบันเทิง ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาเป็นการพึ่งพาที่ควบคุมไม่ได้
เฟอร์นันเดสชี้ว่าเมื่อผู้ติดเทคโนโลยีพยายามลดการใช้งาน หลายรายมักแสดงอาการที่รุนแรง ทั้งการสั่น เหงื่อออก และนอนไม่หลับ ซึ่งคล้ายคลึงกับอาการถอนยาของผู้ติดเฮโรอีน สาเหตุของอาการเหล่านี้มีที่มา โดยเฟอร์นันเดสอธิบายว่าการใช้โซเชียลมีเดียกระตุ้นการหลั่งสารโดปามีน ซึ่งทำให้เกิดความสุขแบบฉับพลัน แต่การได้รับความสุขแบบง่ายๆ เช่นนี้กลับทำลายระบบรางวัลในสมอง ส่งผลให้ผู้ใช้ไม่สามารถเพลิดเพลินกับกิจกรรมปกติในชีวิตประจำวันได้
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าการเอาชนะการติดเทคโนโลยีต้องเริ่มจากการระบุ "ตัวกระตุ้น" ที่ทำให้เราหันไปพึ่งพาอุปกรณ์ดิจิทัล จากนั้นจึงหากิจกรรมทดแทนที่สร้างสรรค์ เช่น การโทรคุยกับเพื่อน การเดินเล่น หรือการดูภาพยนตร์
เฟอร์นันเดสมองว่าผู้ใช้บางรายอาจต้องใช้วิธีเลิกแบบหักดิบด้วยการลบแอปโซเชียลมีเดียทั้งหมด ขณะที่บางรายอาจเลือกค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การงดใช้โทรศัพท์ในชั่วโมงแรกและชั่วโมงสุดท้ายของวัน ซึ่งสามารถเลือกปรับให้เข้ากับตัวตนของผู้ใช้แต่ละคนได้
เมื่อถามถึงสิ่งสำคัญคือต้องตระหนัก เฟอร์นันเดสย้ำว่าผู้ใช้ควรมองเห็นถึงความสำคัญของชีวิตจริง ที่มีคุณค่ามากกว่าโลกเสมือนในโซเชียลมีเดีย ซึ่งหากคิดได้เช่นนี้ อาการเสพติดเทคโนโลยีย่อมมีความเสี่ยงน้อยลงได้ ในยุคดิจิทัลที่การใช้สมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน